เข้าสู่ระบบ  ขนาดตัวอักษร  ก   ก   ก  | แสดงผล  C   C   C  | EN TH | Translate

สพฉ.จัดอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Helicopter Emergency Medical Services Course : Basic HEMS)

สพฉ.จัดอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Helicopter Emergency Medical Services Course : Basic HEMS) มุ่งสร้างบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีสมรรถนะ เพื่อให้ ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน ว่ามีความสำคัญและจำเป็น ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยยานพาหนะปกติได้ โดยหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่จะปฏิบัติการฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ได้นั้น  ต้องจัดให้มี  ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีความสามารถในการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ เพราะเป็นการปฏิบัติการที่มีความเร่งด่วน  ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย รวมทั้งเป็นความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการ และทีมงาน ซึ่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหนึ่งในเขตสุขภาพพิเศษ ที่มีความสำคัญ ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีเป้าหมายหลักที่จะเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตในระยะยาว และเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีมาตรฐาน และรวดเร็วในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวต่ออีกว่า การจัดฝึกอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Helicopter Emergency Medical Services Course : Basic HEMS) รุ่นที่ 1 นี้ มุ่งสร้างบุคลากรที่มีภารกิจเกี่ยวข้องด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ในพื้นที่นำร่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดอบรมระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2564 ณ ห้องประชุม B602 ชั้น 6 อาคารพัฒนาบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 29 คน แบ่งการอบรมเป็น ภาคทฤษฎี ใช้การสอนแบบบรรยาย และการสอนแบบ Case Base-Learning และภาคปฏิบัติ ใช้การสอนแบบสาธิต การฝึกปฏิบัติแบบจำลองเสมือนจริงและการฝึกปฏิบัติในสนามฝึก รวมระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้น 40 ชั่วโมง หรือ 5 วัน

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า อบรมในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปปฏิบัติงานจริง รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพ และโอกาสในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน และส่งต่อสถานพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ  ซึ่งทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติต้องขอขอบคุณ ผู้บริหารและผู้เข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง วิทยากรและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยให้การฝึกอบรมครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยดี

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553
เนื้อหาและรูปที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อสื่อสาร ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
Copyright © NIEM - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) 2019

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

โทรศัพท์ 0-2872-1600 โทรสาร 028721604 Email : saraban@niems.go.th
88/40 หมู่ที่ 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
สาธารณสุขซอย 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
saraban@niems.go.th 0-2872-1600 niem1669 1669NIEM NIEMS_1669 @niem1669
ปริมาณการเข้าชม วันนี้ 1 ทั้งหมด 2734