เข้าสู่ระบบ  ขนาดตัวอักษร  ก   ก   ก  | แสดงผล  C   C   C  | EN TH | Translate

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดตาก ชื่นชมการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลได้อย่างดี

          วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) ที่โรงพยาบาลแม่ระมาด อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินและเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดตาก พร้อมมอบชุดปฏิบัติงาน HERO Sky doctor (HERO AWARD) จำนวน 4 คน และมอบเกียรติบัตรให้กับหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน และหน่วยงานสนับสนุนงานการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดตาก จำนวน 13 รางวัล

        ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้สะดวก รวดเร็ว ซึ่งในพื้นที่ห่างไกลที่การเข้าถึงการรักษา การส่งต่อผู้ป่วย และการขนส่งลำเลียงยา เวชภัณฑ์ มีความลำบากและใช้เวลานาน งานการแพทย์ฉุกเฉินเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะช่วยรักษาชีวิตเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ทั้งประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประสบภัยต่างๆ โดยจากการติดตามการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉิน ของจังหวัดตาก ต้องขอชื่นชมที่พื้นที่ให้ความสำคัญและพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547 มีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ และอากาศ โดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด 2 ศูนย์ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดูแลพื้นที่ 4 อำเภอฝั่งตะวันออก และโรงพยาบาลแม่สอด ดูแลพื้นที่ 5 อำเภอฝั่งตะวันตก

           ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า งานการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดตาก ทางบก มีหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 73 หน่วย บุคลากรทางการแพทย์ 1,264 คน พนักงานฉุกเฉินการแพทย์และอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ 636 คน พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน 125 คัน ส่วนทางน้ำ มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำ 4 หน่วย ได้รับการสนับสนุนเรือ จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน ซึ่งจากสถิติ 3 ปีย้อนหลัง ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการลำเลียงทางน้ำ จำนวน 39 ราย และรอดชีวิตทั้งหมด สำหรับทางอากาศ มีการลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน (Sky Doctor) ตั้งแต่ปี 2557 มีทีมแพทย์ชุดปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน 3 ทีม ได้แก่ ทีมโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลแม่สอด และโรงพยาบาลอุ้มผาง โดยได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการลำเลียงผู้ป่วย จาก หน่วยบิน ชปบ.ทบ.กกล.นเรศวร และหน่วยบินตำรวจจังหวัดตาก จนถึงปัจจุบันมีการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศแล้ว 59 ราย และมีแนวโน้มการลำเลียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี

                “ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน เดินหน้าทำงานเพื่อดูแลสุขภาพและช่วยชีวิตประชาชน การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีเป้าหมายสูงสุด คือ ช่วยเหลือประชาชนให้มีความปลอดภัย เริ่มต้นตั้งแต่จุดเกิดเหตุ จนมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทันการณ์ ทีมผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ทุกทักษะ ทั้งการประเมินอาการ การช่วยเหลือ การเคลื่อนย้ายที่รวดเร็ว ถูกต้อง ตลอดจนกมีการสื่อสารที่กระชับฉับไว ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน” ดร.สาธิต กล่าว

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553
เนื้อหาและรูปที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อสื่อสาร ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
Copyright © NIEM - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) 2019

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

โทรศัพท์ 0-2872-1600 โทรสาร 028721604 Email : saraban@niems.go.th
88/40 หมู่ที่ 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
สาธารณสุขซอย 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
saraban@niems.go.th 0-2872-1600 niem1669 1669NIEM NIEMS_1669 @niem1669
ปริมาณการเข้าชม วันนี้ 2 ทั้งหมด 436