ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ. เน้นย้ำแนวทางป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรับการระบาดของเชื้ออีโบลา ย้ำต้องเตรียมมาตรการป้องกันแม้โอกาสระบาดในไทยมีน้อยมาก
 

สพฉเน้นย้ำแนวทางป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรับการระบาดของเชื้ออีโบลา ย้ำต้องเตรียมมาตรการป้องกันแม้โอกาสระบาดในไทยมีน้อยมาก แนะผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ต้องไม่สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการถูกเลือด-น้ำเหลืองของผู้ป่วย

 
 

 

ช่วงนี้ข่าวการระบาดของเชื้อไวรัส “อีโบลา” กำลังเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการแพร่ระบาดสูงและรวดเร็ว โดยล่าสุดมีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ยังไม่มีข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคนี้และยังไม่อยู่ในระบบเฝ้าระวัง แต่ก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กล่าวว่า จากกระแสข่าวเรื่องการระบาดของเชื้ออีโบลา ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย แต่ทาง สพฉ. ก็ได้มีการเตรียมความพร้อม ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานแก่หน่วยกู้ชีพ โดยได้เน้นย้ำแนวทาง “universal precaution ems” หรือแนวทางการทำงานเพื่อป้องกันตนเองของบุคลากร ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อตามหลักสากล ซึ่งไม่เพียงแต่เชื้อไวรัสอีโบล่าเท่านั้น แต่รวมถึงการติดเชื้อชนิดต่างๆ ที่อาจติดต่อทางเลือดและสารน้ำจากร่างกาย (blood  and  body fluid) ของผู้ป่วย  โดยก่อนเข้าทำการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น ทีมกู้ชีพจะต้องพิจารณาถึงอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของตนเองก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัย โดยต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่ครบถ้วน  ไม่ไปสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บโดยตรง  นอกจากนี้จะต้องทำการประเมินความปลอดภัย และสังเกตถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้ป่วยด้วย

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติงานนั้น ทีมกู้ชีพจะต้องมีการตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลจากการติดเชื้อ ให้มีความพร้อมอยู่เสมอก่อนออกปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งประกอบด้วย หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย แว่นตา ถุงมือ เสื้อหรือแผ่นกันเปื้อน ซึ่งต้องสวมใส่ทุกครั้งขณะทำงาน เพราะอาจจะมีโอกาสติดเชื้อจากการสัมผัสกับเลือด น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งต่างๆของผู้ป่วยฉุกเฉินได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมือเป็นแผลหรือถลอก เช่น การทำแผล การห้ามเลือด และหากต้องทำการเจาะเลือด หรือทำหัตถการต่างๆ เล็กน้อยก็ควรล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนใส่ถุงมือและหลังถอดถุงมือออกด้วยทุกครั้ง เนื่องจากถุงมืออาจมีรอยรั่วที่มองไม่เห็นได้  รวมไปถึงห้ามใช้ปากดูดหรือเป่าในการกระทำงานใด ๆ กับตัวผู้ป่วยเอง เช่น ห้ามทำ mouth to mouth resuscitation เป็นต้น

 

นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า  นอกจากนี้ ให้พยายามหลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลขณะทำงาน โดยทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องสวมรองเท้าหุ้มส้นเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากวัสดุต่างๆในที่เกิดเหตุ ระมัดระวังเมื่อใช้ของมีคมต่าง ๆเช่น การถูกเข็มที่ใช้กับผู้ป่วยตำมือ ด้วยการไม่พยายามสวมเข็มกลับคืนในปลอกเข็ม หรือหักงอเข็มเมื่อใช้แล้ว จากนั้นควรทิ้งลงในกระป๋องโลหะที่มีปากแคบ หรือภาชนะที่ไม่แตกรั่วได้ง่าย เพื่อไม่ให้ผู้อื่นถูกตำโดยบังเอิญ และเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อในรถพยาบาลฉุกเฉิน จึงควรทำความสะอาดสถานที่และบริเวณที่ปนเปื้อนเลือด เสมหะหรือน้ำเหลืองของผู้ป่วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที และอุปกรณ์เครื่องมือที่จะต้องสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองของคนไข้โดยตรงควรเป็นชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งแต่ถ้ามีความจำเป็นต้องนำกลับมาใช้อีกก็ให้นำไปอบฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง

 
 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000019
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001