ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ. ร่วมกับ สมาคมรพ.เอกชน จัดประชุมพัฒนาเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินภาคโรงพยาบาลเอกชน ระบุตั้งเป้าให้ให้ไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ฉุกเฉินของAEC ภายในปีหน้า

สพฉ. ร่วมกับ สมาคมรพ.เอกชน จัดประชุมพัฒนาเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินภาคโรงพยาบาลเอกชน เร่งหาแนวทางในการพัฒนาบุคลากร พัฒนาห้องฉุกเฉิน และระบบการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงรพ. ระบุตั้งเป้าให้ให้ไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ AEC ภายในปีหน้า

 
  

วันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่ห้องประชุมสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี  ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จัดประชุมพัฒนาเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินภาคโรงพยาบาลเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน มีบทบาทในการดำเนินงานบริหารจัดการและสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งเพื่อหาแนวทางพัฒนาให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

นายแพทย์เฉลิม  หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลเอกชน ผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาบุคลากร พัฒนาห้องฉุกเฉิน พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้งในภาวะปกติและภัยพิบัติ 

ด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นเครือข่ายสำคัญที่ทำให้การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยก้าวต่อไปของการพัฒนาร่วมกันมี ๔ เรื่องสำคัญ ดังนี้  ๑.การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งมีการวางเป้าหมายในอนาคตว่าจะต้องสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และมีการแบ่งโซนการดูแลที่ชัดเจนมีการประสานโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นศูนย์กลางในการส่งต่อ ๒.การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรองรับ AEC โดยมีการตั้งเป้าให้ประเทศไทยได้เป็นผู้นำด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ AEC ภายในปี ๒๐๑๕มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งเรื่องมาตรฐานการแพทย์และภาษา มีอุปกรณ์เครื่องมือทีทันสมัย และทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยทุกเชื้อชาติในระยะเวลาฉุกเฉิน ๓.มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มีการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยด้วยความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และกลับบ้านด้วยความสุข และ ๔.การพัฒนาบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินโดยบุคลากรทุกระดับ มีสมรรถนะสูงตามมาตรฐานสากล มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินปลอดภัย

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000033
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001