ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ. จัดแข่งขันขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติเป็นครั้งแรกในไทย เน้นพัฒนาทักษะคนขับรถพยาบาลให้รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พบ 4 ปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุคือ “คนขับรถพยาบาล-สภาพรถ-สภาพถนน-ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน” ตั้งเป้าปี58 ทำให้รถฉุกเฉินเป็นรถที่ปลอดภัยที่สุด

สพฉ. จัดแข่งขันขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติเป็นครั้งแรกในไทย เน้นพัฒนาทักษะคนขับรถพยาบาลให้รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พบ 4 ปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุคือ “คนขับรถพยาบาล-สภาพรถ-สภาพถนน-ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน”  ตั้งเป้าปี58 ทำให้รถฉุกเฉินเป็นรถที่ปลอดภัยที่สุด 

 

 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557  ที่ศูนย์สอนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ กรมการขนส่งทางบก อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการแข่งขันการขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะและทัศนคติในการขับรถพยาบาลอย่างปลอดภัย

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า จากสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลในระบบงและได้สร้างความสูญเสียให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2557 มีรถพยาบาลในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและรถพยาบาลในระบบส่งต่อประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้น61 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บกว่า 130 ราย และเสียชีวิต 19 ราย โดยสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นส่วนใหญ่เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ คนขับรถพยาบาล สภาพรถ สภาพถนน และผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสีย สพฉ. จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญว่าหากมีการฝึกอบรมให้กับพนักงานขับรถพยาบาลให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎก็จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ สพฉ. ได้จัดอบรมคนขับรถพยาบาลไปแล้วกว่า 1,335 คน 


  

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการยืนยันว่าการอบรมการขับรถพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สพฉ.จึงได้จัดให้มีการแข่งขันการขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติในครั้งนี้ขึ้น โดยผู้เข้าแข่งขันเป็นตัวแทนที่ผ่านการคัดเลือกจากเขตบริการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และสมาคม รวมทั้งสิ้น 16 ทีม ซึ่งจะต้องผ่านการทดสอบทั้งหมด16 ฐาน อาทิ ฐานการเตรียมความพร้อมก่อนออกรถพยาบาล ฐานไฟไหม้ขณะขับรถพยาบาล ฐานการขับรถพยาบาลในทางลาดชัน ฐานการขับรถพยาบาลเมื่อเบรกหรือยางแตก ฐานการป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ฐานการทำความสะอาดรถพยาบาลหลังนำส่งผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคอีโบลา รวมถึงจะมีการทดสอบกฎจราจร การใช้สัญญาณ และการทดสอบสุขภาพจิตด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าแข่งขันดังกล่าวจะช่วยฝึกทักษะความรู้ความสามารถ ฝึกให้คนขับรถพยาบาลได้รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เพื่อให้การขับรถพยาบาลนั้นมีความปลอดภัยมากที่สุด

                นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2558 นี้ สพฉ. ได้ตั้งเป้าลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถพยาบาลให้น้อยที่สุด หรือหากไม่เกิดได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก รวมทั้งทำให้รถพยาบาลและรถฉุกเฉินเป็นรถที่ปลอดภัยมากที่สุด โดยต่อจากนี้ สพฉ. จะเดินหน้าจัดอบรมการขับรถพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งจะเร่งสร้างมาตรฐานจัดทำใบอนุญาตขับรถพยาบาลและกำหนดคุณสมบัติคนขับรถพยาบาลให้มีความชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเป็นการคุ้มครองผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินแล้วยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย

 
 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000084
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001