ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ.ปล่อยรถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่ ลุยช่วยประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้

สพฉ.ปล่อยรถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่ ลุยช่วยประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ พร้อมย้ำประชาชนเจ็บป่วย ฉุกเฉินโทร 1669 พร้อมดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กห้ามเล่นน้ำ และระมัดระวังเรื่องไฟดูดไฟช็อต หากเห็นปริมาณน้ำที่มากให้รับตัดไฟฟ้าในบ้านทันที 

 

นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีโรงพยาบาลหลายแห่งได้รับผลกระทบ ว่า ขณะนี้สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่ของประจวบคิรีขันธ์ เพราะน้ำมาเร็วและแรงมาก  ซึ่งตอนนี้ โรงพยาบาลบางสะพานได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยในเบื้องต้นเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินของเราหลากหลาย มูลนิธิหลากหลายองค์กรได้ระดมกำลังกันเข้าไปช่วยเหลือเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังที่ปลอดภัยแล้ว นอกจากนี้ วันนี้เรายังได้มีการปล่อยรถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่ จำนวน 2 คัน โดยเป็นรถสื่อสารเฉพาะกิจและรถสื่อสาร ดาวเทียม เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการจัดระบบและการติดต่อประสานงานในกรณีฉุกเฉินให้กับเครือข่าย การแพทย์ฉุกเฉินหลากหลายหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่   

 

ทั้งนี้รถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่นั้นจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกรณีที่การสื่อสารในช่องทางปรกติไม่สามารถทำงานได้ โดยในรถสื่อสารเฉพาะกิจจะประกอบไปด้วยวิทยุสื่อสารและระบบอินเตอร์เน็ต ที่พร้อมประสานงานได้ในทุกกรณีทุกเครือข่าย ส่วนรถสื่อสารดาวเทียมจะประกอบไปด้วยระบบสื่อสารสั่งการ ผ่านดาวเทียมและระบบการสื่อสารผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เร็นซ์เพื่อเชื่อมไปยังเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่สามารถใช้งานได้แม้ในสถานการณ์วิกฤต โดยรถทั้งสองคันนี้จะอำนวยการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานการณ์วิกฤต เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในเบื้องต้นรถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่ทั้งสองคันนั้นเคลื่อนที่ไปยัง จังหวัดต่างๆในภาคใต้ที่วิกฤต

 

 

รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับประชาชนในพื้นที่หากมีกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรมาที่สายด่วน 1669 ได้ทันทีเพราะเราได้จัดทีมเจ้าหน้าที่พร้อมดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และในส่วนของผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดอย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง เพราะสุ่มเสี่ยงต่อ การจมน้ำได้ นอกจากนี้แล้วควรระวังในเรื่องของไฟช็อตด้วยเพราะมีรายงานเข้ามาในเรื่องนี้หลากหลายกรณีมาก ซึ่งหากเราเห็นปริมาณน้ำที่เข้ามาในบ้านเรามากนั้นเราควรสับคัตเอ้าท์เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าทันที และหากเราพบเห็นผู้ที่ถูกไฟช็อตและต้องการเข้าให้การช่วยเหลือนั้นในเบื้องต้นนั้นเราต้องตั้งสติ รีบตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุ และโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญต้องจำให้ขึ้นใจว่าอย่าสัมผัสตัวผู้ถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่าเด็ดขาด ควรใช้วัสดุที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า ป้องกันตัวก่อน เช่น ไม้ ถุงมือยาง ผ้าแห้ง นอกจากนี้หากผู้ป่วยฉุกเฉินหมดสติ และหยุดหายใจ ให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR  ทันที โดยการกดนวดหัวใจ ให้จัดผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง โดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ทางด้านข้างของผู้ป่วย วางส้นมือลงไปตามแนวกึ่งกลางของหน้าอกหรือกึ่งกลาง ระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของผู้ป่วยแล้วนำมืออีกข้างมาประกบ ประสานนิ้วและทำการล๊อคนิ้วกระดกข้อมือ ขึ้นลง โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกเท่านั้น โน้มตัวมาให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย แขนตรงและตึง ออกแรงกดลงไปโดยใช้แรงจากหัวไหล่ จุดหมุนอยู่ตรงสะโพก กดให้หน้าอกยุบลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกผู้ป่วยตลอดการนวดหัวใจ ส้นมือไม่หลุดออกจากหน้าอกผู้ป่วยด้วยความเร็ว 100-120  ครั้งต่อนาที และทำไปเรื่อยๆ เครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินที่เข้าให้การช่วยเหลือจะมาถึง

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000080
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001