ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
เลขา สพฉ. เสียใจเหตุรถชนกู้ชีพตาย 4 พร้อมเตรียมพิจารณามอบเข็มเชิดชูเกียรติให้ผู้ประสบเหตุ

เลขา สพฉ. เสียใจเหตุรถชนกู้ชีพตาย 4 พร้อมเตรียมพิจารณามอบเข็มเชิดชูเกียรติให้ผู้ประสบเหตุ วอนขอความร่วมมือประชาชนหากเห็นเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงาน ให้ชะลอความเร็วรถและเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้น  แนะหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินออกทำงานบนถนนต้องมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อลดการเกิดเหตุซ้ำ  และย้ำต้นสังกัด ทำประกันภัย ประกันชีวิตแก่หน่วยกู้ชีพทุกคน

 
  
 (ขอขอบคุณภาพจากครอบครัวข่าว 3 ) 

 

            จากเหตุการณ์ที่รถกู้ชีพเทศบาลคลองเต็ง ออกให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ บริเวณหัวสะพานปลายหมัน อ.เมือง จังหวัดตรัง แล้วถูกรถกระบะพุ่งชน จนส่งผลให้เจ้าหน้าที่กู้ชีพเสียชีวิตรวม 4 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 6 ราย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา  ล่าสุดวันนี้  ( 8 พ.ค.) เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ตนต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกท่าน ภายหลังจากที่ได้ทราบเรื่อง สพฉ.ได้ส่งผู้แทนลงพื้นที่ทันทีเพื่อให้กำลังใจกับญาติและเจ้าหน้าที่ที่เหลือ และเข้าร่วมพิธีศพที่จะจัดขึ้นในวันนี้ รวมทั้งหาข้อมูลเพื่อวางแนวทางในการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับรถพยาบาลฉุกเฉินต่อไปในอนาคต

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการออกปฏิบัติการแต่ละครั้งนั้นบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ทั้งจากปัจจัยด้านตัวรถที่ใช้ออกปฏิบัติการ และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่างๆเช่น ถนน รวม ทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก  แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก สพฉ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยที่ผ่านมาเราได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมผู้ขับขี่รถพยาบาลฉุกเฉิน การจำกัดความเร็วในรถพยาบาลฉุกเฉิน การเพิ่มจุดติดตั้งไฟวับวาบรอบตัวรถ การติดตั้งGPS และกล้อง CCTV ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานก็ต้องระมัดระวังและทำตามคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางความปลอดภัยด้วย

 

“ทั้งนี้ตามแนวทางปฏิบัติของรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในส่วนมาตรฐานอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่จะใช้ในการควบคุมสถานการณ์จะเห็นได้ว่า ในรถการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับจะต้องมีอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นในการป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ได้แก่ กรวยจราจร ไฟฉายหรือไฟควบคุมจราจร เสื้อสะท้อนแสง เทปกั้นการจราจร และนกหวีด โดย สพฉ.ได้จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติในระบบการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งในหนังสือคู่มือเล่มนี้จะบอกรายละเอียดเรื่องแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการจัดทีมวิเคราะห์และจัดการด้านความปลอดภัยของบุคลลากรที่ออกปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดเกิดเหตุ  ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถดาวน์โหลดคู่มือไปอ่านได้ที่ลิงค์นี้http://www.niems.go.th/th/DownloadFile.aspx?CateType=DataService&ContentId=25571208010859035   ผมอยากให้ผู้ปฏิบัติงานทุกท่านศึกษาคู่มือด้านความปลอดภัยและฝึกปฏิบัติให้เป็นความเคยชิน เช่น การใส่เสื้อสีสะท้อนแสงที่มองเห็นได้ชัดเจน การวางกรวยจราจรก่อนถึงจุดเกิดเหตุเป็นระยะ 3 เท่าของป้ายจำกัดความเร็ว รวมถึงการขอความช่วยเหลือจากตำรวจในพื้นที่มาช่วยควบคุมการจราจร เพราะหากเราทำจนเคยชินได้ก็หมายถึงชีวิตของพวกเราที่จะปลอดความความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเรานั่นเอง ” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

ในส่วนประเด็นการเยียวยานั้น เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวว่าทาง สพฉ. จะประสานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของสิทธิประโยชน์แก่ทายาทผู้เสียชีวิตและค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวของผู้บาดเจ็บ และจะพิจารณาในการมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกคน  ซึ่งเลขาธิการ สพฉ. ได้เน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทุกแห่งเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการทำประกันภัยรถและประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน และยังฝากถึงประชาชนทุกคนให้ขับรถด้วยความเร็วตามที่กฏหมายกำหนดและหากเห็นรถของเจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ก็ขอให้ชะลอความเร็วและเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ทำงานในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้สะดวกขึ้นด้วย

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000036
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001