ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
เลขาฯ สพฉ.เสียใจหัวหน้าหน่วยงานท้องถิ่นที่จังหวัดพิษณุโลกวูบและเสียชีวิต พร้อมเปิดสถิติผู้ป่วยด้วยโรคหัวในขาดเลือด

เลขาฯ สพฉ.เสียใจหัวหน้าหน่วยงานท้องถิ่นที่จังหวัดพิษณุโลกวูบและเสียชีวิต พร้อมเปิดสถิติผู้ป่วยด้วยโรคหัวในขาดเลือดปี 2559 ที่ผ่านมา มีมากกว่า 1,700 ราย พร้อมจัดทำคลิปวีดีโอเผยแพร่ให้ประชาชนเรียนรู้ขั้นตอนในการทำ CPR และการใช้งานเครื่อง AED ที่ถูกต้อง ระบุหากช่วยถูกวิธีจะเพิ่มโอกาสรอดให้ผู้ป่วยได้มาก 50-60 เปอร์เซ็นต์

 

        จากกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานท้องถิ่นที่จังหวัดพิษณุโลกวูบและเสียชีวิตเมื่อวานที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ด้วย ในประเด็นที่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้นั้นสามารถมองได้สองลักษณะซึ่งอาจจะเกิดได้จากภาวะทางหัวใจหรือภาวะทางสมองก็ได้ ซึ่งหากประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนคิดว่าเกิดจากภาวะทางหัวใจที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ค่อนข้างเร็ว โดยจากข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติที่จัดเก็บข้อมูลไว้พบว่ามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดนอกโรงพยาบาลเฉลี่ยนแล้วปีละประมาณ 1 พันรายทั่วประเทศ ซึ่งจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมานี้เองมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยภาวะโรคหัวใจมากถึง 1,700 ราย

          เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ทั้งนี้โดยธรรมชาติของมนุษย์เรานั้นอัตราการเต้นของหัวใจจะเต้นจะอยู่ที่60-100 ครั้งที่เป็นการเต้นในจังหวัดปรกติ และถ้ามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปรกติ อาทิมีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ที่ทำให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจผิดปรกติอาการในช่วงแรกๆ ของคนที่เป็นจะมีอาการเจ็บหน้าอกหรือมีอาการใจสั่น ซึ่งถ้าหากเป็นไม่รุนแรงก็จะมีเวลาในการบอกคนข้างๆ หรือบอกเพื่อนๆ ให้พาไปหาหมอ แต่ถ้าหากบางคนมีอาการรุนแรงหรือเลือดไปอุดตันที่เส้นเลือดใหญ่ของหัวใจทำให้เลือดไหลไม่พร้อมกันจะใช้ระยะเวลาสั้นมาก ซึ่งลักษณะอาการแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะที่ทำให้หัวใจไม่ทำงานและจะทำให้สมองไม่ได้รับเลือดเพียงพอก็จะทำให้เกิดอาการหมดสติ

             “ เราควรช่วยผู้ป่วยที่มีอาการภาวะหัวใจขาดเลือดให้เร็วที่สุดเพราะโดยปรกติแล้วสมองของคนเราจะขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาที ซึ่งภายใน 4 นาทีจะต้องได้รับการช่วยเหลือหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพบคนหมดสติ ให้ประเมินด้วยการปลุกเรียกและดูการหายใจ หากหมดสติไม่หายใจ ให้โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669  ระหว่างนี้ให้ทำการปั้มหัวใจผู้ป่วยทันที ขั้นตอนคือวางส้นมือประสานกันบนกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลงไปให้ลึกประมาณ 5-6 เซนติเมตร ต่อเนื่องที่อัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่ารถกู้ชีพจะมาถึง นอกจากนี้ให้สอบถามว่าบริเวณนั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ AED หรือไม่ หากมีให้นำมาใช้ร่วมกับการทำ CPR โดยทำการแปะแผ่นนำไฟฟ้าและกดช๊อตไฟฟ้าตามคำแนะนำของเครื่อง AED" เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะกล่าว

      เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ทาง สพฉ. มีโครงการอาสาฉุกเฉินชุมชนหรือ อฉช.  ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้การขอความช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยคาดหวังให้ใน 1 ครัวเรือน มี อฉช. อย่างน้อย 1 คน

รวมทั้งได้ร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) โดยในปีพ.ศ. 2558 คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ประกาศให้เครื่อง AED เป็นเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นเลยทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ทำได้มากขึ้นและเร็วขึ้นซึ่งขณะนี้จำนวนของเครื่อง AED ที่สพฉ.ได้รณรงค์และกระจายการติดตั้งไปในพื้นที่สาธารณะจำนวนกว่า 100 ตัว และในส่วนที่หน่วยงานอื่นเองได้รณรงค์อีก 1,000 ตัว ซึ่งหากเราใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ที่ถูกวิธีจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น 

ทั้งนี้หากประชาชนอยากเรียนรู้ขึ้นตอนในการทำ CPR และการใช้งานเครื่อง AED สพฉ.ได้จัดทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์ไว้โดยประชาชนสามารถคลิกรับชมคลิปวีดีโอได้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้ https://www.youtube.com/watch?v=-BrFVo1tdw0&t=23s  หรือคลิกรับชมได้ที่แฟนเพจสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ https://www.facebook.com/pg/niem1669/videos/?ref=page_internal

 

 

 

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000053
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001