ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
กู้ภัย-กู้ชีพ กว่า 3 พันคน รวมพลังกู้ชีพกู้ภัย จิตอาสาไทย ใจเป็นหนึ่งเดียว ในการประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรการกุศลที่มีบทบาทด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ไม่แสวงหาผลกำไร ครั้งที่ 3

กู้ภัย-กู้ชีพ กว่า 3 พันคน รวมพลังกู้ชีพกู้ภัย จิตอาสาไทย ใจเป็นหนึ่งเดียว ในการประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรการกุศลที่มีบทบาทด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ไม่แสวงหาผลกำไร ครั้งที่ 3 ด้านเลขาธิการสพฉ. คาด ปฏิรูระบบสธ. ใช้เวลา 4 ปี เน้น ECS หรือ ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน วอน ร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ช่วยผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา มีการประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรการกุศลที่มีบทบาทด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ไม่แสวงหาผลกำไร ครั้งที่ 3 “รวมพลังกู้ชีพกู้ภัย จิตอาสาไทย ใจเป็นหนึ่งเดียว" โดยมีเครือข่ายองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไรทั่วประเทศด้านกู้ภัยกู้ชีพจำนวน 252 แห่ง รวมกว่า 3,000 คนเข้าร่วม

นายประวิทย์ อัศวินชัย ประธานมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไรและคณะผู้จัดการประชุม ด้วย พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 กำหนดให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีบทบาทในการบริหารจัดการ ประสานการปฏิบัติงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ ฉุกเฉินร่วมกัน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่าง ทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน โดยได้รับการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อเหตุการณ์ ในขณะที่สถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินและสาธารณภัยของประเทศ มีความหลากหลายและซับซ้อนมาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในด้านการกู้ชีพและกู้ภัยจากหลากหลายหน่วยงาน จึงจะทำให้มีการ ช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ งานการแพทย์ฉุกเฉินและงานกู้ภัย และสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือของภาคี เครือข่ายองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากาไรในการพัฒนาการกู้ชีพกู้ภัยของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและชาวต่างชาติทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ

  

ด้านเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) กล่าวถึงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉิน ว่า การเกิดขึ้นของสพฉ.เพื่อคุ้มครองดูแลพี่น้องประชาชน ให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ทั่วถึง และเท่าเทียม โดยต้องอาศัยภาคีเครือข่าย ความร่วมมือในเชิงการปฏิบัติการฉุกเฉิน แต่ไม่ได้เริ่มจากคำว่า EMS ( Emergency medical services) ที่เป็นการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน แต่เป็นเรื่องของ SAR ( Search Is An Emergency ) หรือ การค้นหากู้ภัย ซึ่งกรณีเหตุการณ์ถ้ำหลวงมีความสำคัญ และทำให้ประชาชน เข้าใจถึงกระบวนการกู้ภัยว่าที่ก่อนจะช่วยชีวิตได้ ต้องมีการค้นหาก่อน ดังนั้นการค้นหา และการกู้ภัยจะมาคู่กัน จากนั้นถึงจะเข้าสู่กระบวนการ EMS ซึ่งจะต้องมีบุคลากรระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่นอกโรงพยาบาล หรือ ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำลังจะเข้ามาร่วมมือกันในเรื่องนี้มากขึ้น

   

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจริยะ กลาวว่า การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล และการปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินก็มีความสำคัญ จะต้องเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ถ้ากรณีโรงพยาบาลแห่งแรก ยังไม่พ้นภาวะฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพอื่นนั้นก็มีความจำเป็นและสำคัญเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในการบริหารจัดการเรื่องสาธารณะภัย จะมีคำใหม่ คือคำว่า Emergency Care System (ECS) หรือ ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน โดยคำนี้กำลังจะถูกนำไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือ แผนปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของทั้งระบบ คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการปฏิรูป 3-4 ปี

"ในช่วงที่ปฏิรูปอยู่นั้น พวกเราเองที่ปฏิบัติหน้าที่ คงจะต้องตระหนักเรื่องของหน้าที่ ว่าเรามาด้วยใจ ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เป็นจิตอาสาที่อยากเข้ามาช่วยเหลือประชาชน ร่วมแรงร่วมใจกัน เมื่อเรามีความตั้งใจแล้ว เราต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้เราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยด้วย จึงอยากขอให้มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง"

เลขาธิการสพฉ. ระบุด้วยว่า ในปี 2562 สพฉ. เตรียมขับเคลื่อนการจัดให้มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานการตรวจประเมินคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยหรือ TEMSA จึงขอความร่วมมือให้หน่วยที่อยู่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งหมดทั้งประเทศ กว่า 8,700 หน่วย ทำการประเมินตนเอง ว่าอยู่ในกลุ่มที่มีมาตรฐานหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังปลอดภัยทั้งตัวเราเอง ผู้ปฏิบัติการอื่น ประชาชน และ ผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย

       

ขณะที่นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย กล่าวว่า ปัจจุบันภัยพิบัติมีความซับซ้อน และหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเกิดได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งคือการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ ทั้งในด้านการกู้ชีพและกู้ภัย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ โดยที่ผ่าน มาปภ.ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน และหวังว่าในอนาคตจะต้องพัฒนาทั้งองค์ความรู้ ระบบการจัดการ และการฝึกทักษะต่างๆ ร่วมกัน โดยในปีหน้าปภ.จะจัดอบรมหลักสูตรนานาชาติ เพื่อผลักดันมาตรฐานทีมกู้ภัยไทย ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญจากออสเตเรียมาดำเนินการอบรมให้

ขณะที่นายนพดล สันติภาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ทุกคนในที่นี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้คนไทยมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยการรักษาพยาบาล หรือ ส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที 
และมองว่าหากเราสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาบริหารจัดการก็จะต้องให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้กู้ชีพกู้ภัย ถือเป็นหน่วยงานที่อยู่ปลายน้ำ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถไปอยู่ต้นน้ำได้ และทำหน้าที่บริหารจัดการความปลอดภัยให้กับคนทั้งประเทศ ในการลด-หลีกเสี่ยง-ป้องกัน ให้ทุกคนมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุอันดับต้นๆของโลก

ทั้งนี้สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกู้ชีพกู้ภัยของสพฉ. ,กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , บริษัทกลางคุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ,การบรรยายการให้ความรู้ด้านกู้ชีพกู้ภัย , การเสวนาการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ ,การจัดแสดงสาธิตการกู้ชีพกู้ภัย และการจัดนิทรรศการภายนอกห้องประชุม

  

 
แหล่งข่าว : กลุ่มสื่อสารองค์การ
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000201
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001