คลังความรู้ บทความเด่น
“เยาวชนต้นกล้าสุราษฏร์ธานีโมเดล” เรียนรู้ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน เพิ่มอัตรารอดชีวิตและหยุดวิกฤตการเสียชีวิตของผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ

เยาวชนต้นกล้าสุราษฏร์ธานีโมเดล เรียนรู้ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน  

เพิ่มอัตรารอดชีวิตและหยุดวิกฤตการเสียชีวิตของผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ

 
  

 

ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในยุคปัจจุบัน นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจาก เป็นการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตได้ โดยเฉพาะการเริ่มช่วยในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นตั้งแต่ที่เราพบผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น  และเพื่อเป็นการส่งต่อความรู้ดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเยาวชน ที่ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อให้เขากลายเป็นต้นกล้าที่สามารถสานต่องานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตามวิธีการและขั้นตอนที่ถูกต้องได้ จึงก่อให้เกิดการรวมตัวกันของหน่วยกู้ชีพภาคเอกชน ภายในจังหวัดสุราษฏร์ธานี รวมทั้งแรงสนับสนุนที่สำคัญจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. จัดโครงการเพื่อฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ขั้นพื้นฐานในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างถูกขั้นตอน และการใช้งานสายด่วน 1669 ให้เกิดประสิทธิภาพ  

โดยเรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา หรือ “หมออัจ”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยืนยัน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมให้การสนับสนุนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ถ้ายิ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล หากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยได้

หมออัจ บอกด้วยว่า พื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี นับว่ามีความเข้มแข็งด้านการให้บริการ การแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องมีระบบเครือข่าย ที่สอดประสานทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชน เกิดเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืนเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นต่อไป

                ฟังหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนหลักกันไปแล้ว มาฟังท้องถิ่นกันบ้าง ว่าเค้ามีแนวทางในการดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน ให้กับกลุ่มเยาวชนอย่างไร แต่ขอบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะมีการนำรถบัส ที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์เกี่ยวกับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน ขับตระเวนไปยังสถานศึกษาต่างๆ ภายในจังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อทำการสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยทำมาแล้วร่วม 1 ปี

นิติศักดิ์ บุญมานนท์ หรือ  “พี่อ้น” หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการมูลนิธิกุศลศรัทธา สุราษฏร์ธานีและหนึ่งในคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเล่าให้ฟังว่า โครงการนี้เริ่มจากการที่พวกเราออกไปปฏิบัติการช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วม ทั้งในส่วนของจังหวัดสุราษฏร์ธานี กรุงเทพมหานคร รวมถึงเหตุการณ์สึนามิในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา   ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าว เราเล็งเห็นถึงปัญหาว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน หรือรู้ก็รู้แบบผิดวิธี ยกตัวอย่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องทำอย่างไรไม่ให้ผู้ป่วยบาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากเกิดบาดแผลขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือคนจมน้ำอย่างถูกวิธี

“เพื่อให้การทำงานของทีมกู้ภัยทำงานได้ง่ายขึ้น จึงเกิดแนวคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม สุดท้ายความคิดนี้จึงตกผลึก และมุ่งตรงไปยังการให้ความรู้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เนื่องจากมีความสะดวก มีความเป็นกลุ่มก้อนเพราะอยู่ในสถานศึกษา และที่สำคัญเมื่อเด็กได้เรียนรู้องค์ความรู้นี้แล้ว ยังสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ปกครองรวมไปถึงผู้ใกล้ชิดได้ด้วย”

พี่อ้นบอกอีกว่า เมื่อเรามีจุดมุ่งหมายการให้ความรู้คือกลุ่มเยาวชนแล้ว เราจึงคิดหายานพาหนะเคลื่อนที่ ที่สามารถขนย้ายอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉินเพื่อไปสาธิตให้กับสถานศึกษาภายในจังหวัด ซึ่งโชคดีมีผู้บริจาครถบัสมา 1 คัน สมามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉินเพื่อทำการสาธิตแบบครบครัน พร้อมกับมีทีมงานประจำรถไปด้วยประมาณ 4-5 คน รวมเจ้าหน้าที่ ที่ทำการหมุนเวียนกันให้ความรู้ประมาณ 57 คน แล้วแต่ใครสะดวกหรือมีเวลาว่าง ทั้งนี้เราไม่ได้จำกัดเฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น หากมีหน่วยงานไหนประสานมา เราก็พร้อมที่จะออกพื้นที่เพื่อนำความรู้ไปเผยแพร่ให้

สำหรับองค์ความรู้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐานที่เรานำไปเผยแพร่นั้น มีอยู่ 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย 1.ระบบสื่อสาร ยกตัวอย่าง การโทรสายด่วน 1669 เมื่อนักเรียนเห็นเหตุการณ์การเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็สามารถโทรไปที่สายด่วนนี้ได้ โดยเน้นย้ำว่า ห้ามโทรเล่นหรือก่อกวน รวมถึงให้รู้ถึงกระบวนการสื่อสารของหน่วยกู้ชีพว่าเขามีขั้นตอนอย่างไร มีอุปกรณ์ชนิดไหน ซึ่งเรามีวิทยุสื่อสารมาให้เด็กดู ว่ามีการติดต่อสื่อสารทั้งระยะใกล้และไกล ที่คลอบคลุมทุกเครือข่าย โดยที่ทางกรุงเทพมหานคร สามารถที่จะมอนิเตอร์เหตุการณ์จากตรงนี้ได้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมา

2.ระบบการปฐมพยาบาล โดยเราทำการถ่ายทอดความรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่นการผายปอดที่ถูกวิธีควรทำอย่างไร การปั้มหัวใจแบบถูกวิธีเป็นอย่างไร การช่วยเหลือคนจมน้ำอย่างถูกวิธีเป็นอย่างไร การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุอย่างถูกวิธีควรทำอย่างไร เป็นต้น และข้อ 3.เรื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือกู้ภัยซึ่งในส่วนของเราได้นำอุปกรณ์ที่มีมาให้ความรู้ เช่น เครื่องปั้มหัวใจ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงชุดนักดับเพลิง ซึ่งในส่วนของชุดดับเพลิงนี้ เราทำการแต่งให้ดูเลย เพราะเมื่อเด็กเห็น เขาจะได้รู้สึกเคยชิน รวมถึงอุปกรณ์การเซฟตี้ต่างๆ

พี่อ้น บอกด้วยว่า หลังดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้มาแล้วร่วม 1ปี ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก มีสถานศึกษา รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ภายในจังหวัดให้ความสนใจ จนบางครั้งต้องต่อคิวกันเลยทีเดียว มั่นใจว่า นับจากนี้ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินภายในจังหวัดจะมีความเข้มแข็งขึ้น และยั่งยืนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

หลังจากฟังการดำเนินการของการให้ความรู้ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยในพื้นที่แล้ว มาฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้กันบ้างว่าเขามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เริ่มที่ “น้องโอม” หรือ ณัฐชนน น้ำตาลพอด อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนเมืองสุราษฏร์ธานี บอกว่า หลังจากพี่ๆกู้ภัยมาให้ความรู้ จึงเกิดแนวคิดที่จะทำงานช่วยเหลือสังคม โดยเป็นนักกู้ภัยน้อย ประกอบกับพ่อและแม่เคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ ซึ่งเมื่อมาเป็นกู้ภัยน้อยแล้ว อย่างน้อยก็สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว

น้องโอม บอกด้วยว่า หลังจากฝึกการกู้ภัยขั้นพื้นที่จากพี่ๆเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ก็เริ่มออกพื้นที่จริง โดยใช้เวลาว่างอาทิตย์ละ 1 วัน ซึ่งงานส่วนใหญ่เป็นการทำแผลให้ผู้ป่วย รวมทั้งช่วยหยิบอุปกรณ์ต่างๆ โดยพวกพี่ๆกู้ภัยบอกว่า ช่วงนี้เริ่มจากขั้นพื้นฐานไปก่อนเมื่อโตกว่านี้ จะให้มาช่วยการกู้ชีพในระดับสูงต่อไป 

“การที่ได้มาช่วยเหลือพี่กู้ภัยในระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะการช่วยเหลือชีวิตคน ซึ่งผลตอบแทนเพียงคำขอบคุณ ก็ทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างมาก”น้องโอมกล่าวพร้อมแนะว่า การทำงานประเภทนี้ สิ่งแรกต้องมีใจสาธารณะในการช่วยเหลือสังคม และที่สำคัญต้องไม่กลัวเลือด เพราะหากมีความกลัว การทำงานกู้ภัยก็จะยากขึ้น

ขณะที่“น้องแก้ม”โสรญา เพชรด้วง นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฏร์ธานี ในฐานะประธานชมรมกู้ภัยน้อย บอกว่า หลังจากพี่กู้ภัยมาให้ความรู้เรื่องการกู้ชีพฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน ทางมหาลัยเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี จึงทำการจัดตั้งชมรมกู้ภัยน้อยขึ้น โดยหน้าที่หลักของชมรม คือการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน แก่เพื่อนนักศึกษา เช่น เมื่อถูกงูกัดการปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรทำอย่างไร การใช้ปากดูดพิษ รวมถึงการขันชะเนาะ แบบผิดวิธี อาจทำให้ผู้ช่วยเหลือและผู้ป่วยเกิดอันตรายได้ รวมไปถึง การช่วยเหลือผู้ป่วยที่จมน้ำที่ถูกวิธีควรทำอย่างไร การปั้มหัวใจ ผายปอดที่ถูกต้องควรทำอย่างไร เป็นต้น

“จากการให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่เพื่อนนักศึกษาตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มจัดตั้งโครงการ เพื่อนนักศึกษาหลายคน ยังไม่รู้ว่าการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกวิธีนั้นเป็นอย่างไร บางคนมองเป็นเรื่องแปลกใหม่ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเราเน้นย้ำว่าการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนหลายคนเริ่มเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์อาจเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ก็ได้ หรือหากพบเห็นก็สามารถทำการช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ หรือต้องอยู่ในเหตุการณ์ที่มีคนจมน้ำ เราก็สามารถช่วยเหลือแบบถูกวิธีในเบื้องต้นได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และอาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวของเพื่อนนักศึกษาเองก็ได้”

น้องแก้ม ทิ้งท้ายว่า หากมีการขยายองค์ความรู้นี้ ไปยังสถานศึกษาต่างๆ แบบคลอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด ขึ้นตอนต่อไปคือ การสร้างเครือข่ายที่ต้องมีการประสานงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนเกี่ยวกับ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน ต่อไป ซึ่งไม่แน่ว่า อาจมีกู้ภัยหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นในจังหวัดก็เป็นได้

เยาวชนต้นกล้าสุราษฏร์ธานีโมเดลจึงนับเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการส่งต่อความรู้ เรื่องการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นพื้นฐาน ที่ควรเอาแบบอย่าง โดยคำนึงถึงกลุ่มเยาวชนเป็นสำคัญ ที่สามารถส่งต่อความรู้นี้ไปยังผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้ใกล้ชิด เกิดเป็นความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐานในอนาคต

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000012
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001