ศูนย์วิชาการด้านแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ. ดึงกู้ชีพเข้าร่วมอบรม ครู ก. พัฒนาสร้างอาสาฉุกเฉินชุมชน

ตั้งเป้าให้ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนสู่การเป็นอาสาสมัครเพิ่มเพื่อเตรียมพร้อมในภารกิจการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดมากขึ้นด้านเจ้าหน้าที่กู้ชีพระบุอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากไทยมุง

 

     สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ได้จัดโครงการอบรมครู ก พัฒนาสร้างอาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.)ให้กับเจ้าหน้าที่กู้ชีพจากมูลนิธิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิหน่วยกู้ชีพร่วมกตัญญู หน่วยกู้ชีพกูบแดง หน่วยกู้ชีพปอเต็กตึ๊งเพื่อพัฒนาไปเป็นครูฝึกสอนให้กับประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษาในการขยายผลและต่อยอดการเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชน ให้มีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและสามารถแจ้งเหตุเมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉินได้

     เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมาผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า การส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือเบื้องต้นด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้นนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในครัวหรือชุมชนก่อนที่จะมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเข้าไปถึงและรับตัวผู้ป่วยส่งรักษาในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่มีความรู้ในเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่อาจจะช่วยยื้อชีวิตของผู้ที่ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินได้

      ทั้งนี้ สพฉ.มีภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพหลากหลายมูลนิธิและเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการช่วยเหลือเบื้องต้นด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เราจึงได้จัดโครงการอบรมครู ก. อาสาฉุกเฉินชุมชนให้กับเจ้าหน้าที่กู้ชีพเพื่อให้เขาได้นำความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือชีวิตของประชาชนที่ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินไปถ่ายทอดให้กับประชาชนทั่วไปนักเรียนนักศึกษาและเยาวชนเข้าร่วมเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนและสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินหากเขาเหล่านั้นประสบเหตุได้ โดยครู ก.จะเข้าไปให้ความรู้กับประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนด้วยกัน 3 เรื่องคือขั้นตอนการแจ้งเหตุเพื่อของความช่วยเหลือ 1669 การปฐมพยาบาลเบื้องต้นตรงจุดเกิดเหตุและการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน

      ด้านนายชัยณรงค์ บุ่งหวายผู้จัดการหน่วยกู้ชีพกูบแดง ที่เข้าร่วมอบรมครู ก อาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.)ในครั้งนี้กล่าวว่าการจัดโครงการในการอบรมครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะผู้เข้าร่วมอบรมถึงแม้จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินแต่จำนวนบุคลากรกู้ชีพของเราก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือชีวิตของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีปริมาณที่มากขึ้นทุกวันได้การได้จัดระบบความรู้และเรียบเรียงความคิดเพื่อให้พวกเราได้จัดกระบวนการถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ร่วมเรียนรู้และร่วมเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนนั้นจะยิ่งทำให้การทำงานช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

      อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่กู้ชีพแต่ละครั้งนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือบรรดาไทยมุงที่เข้ามามุงดูเหตุการณ์แต่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้และหลายครั้งที่ผู้ประสบเหตุฉุกเฉินต้องเสียชีวิตจากการช่วยเหลือที่ผิดพลาดของผู้เข้าให้การช่วยเหลือที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการช่วยชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินในแต่ละประเภทโดยเฉพาะในการเกิดอุบัติเหตุเราจะพบผู้ประสบเหตุเสียชีวิตจากอาการคอหัก หลังหักจากการดึงตัวของผู้ประสบเหตุออกจากรถโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่เป็นจำนวนมากจากโครงการนี้จะทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่จะมีความรู้ในการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นผลดีกับทุกๆ คน

      ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ได้เข้าร่วมการอบรมครู ก อาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.)ในครั้งนี้นั้นได้เข้าร่วมถ่ายทอดวิธีปฎิบัติและการช่วยเหลือชีวิตผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสมเด็จเจ้าพระยาด้วยโดยนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมเพื่อเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.)จะได้รับการถ่ายทอดและเรียนรู้ขึ้นตอนของการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งขั้นตอนของการแจ้งเหตุ 1669 ที่อฉช.จะต้องแจ้งชื่อ นามสกุล เบอร์ติดต่อกลับและแจ้งอาการของผู้ป่วย และสถานที่เกิดเหตุและเข้าทำการช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ตามอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและรอจนกว่าชุดปฏิบัติการฉุกเฉินจะเข้ามารับผู้ป่วย

        นายธนพงษ์ เทศนิยม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยากล่าวหลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ เรื่องการกู้ชีพจาก ครู ก อาสาฉุกเฉินชุมชน(อฉช.) ว่าการถ่ายทอดความรู้เรื่องการกู้ชีพให้กับพวกเราในวันนี้นั้นถือเป็นความรู้ ที่ดีมากเพราะถึงแม้ในวิชาเรียนเราจะเรียนกันมาในระดับหนึ่งแล้วแต่เราก็ยังไม่เคยได้ลงปฏิบัติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การที่สพฉ.และอาสามัครครู ก.มาถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา ทำให้ได้ลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้ความรู้และวิธีการที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้ในหลากหลายกรณีทั้งการยกผู้บาดเจ็บออกจากอาคารที่เขาประสบเหตุ หรือออกจากรถยนต์ที่เขาประสบเหตุรวมทั้งการได้เรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำ CPR ด้วยเป็นความรู้ที่ได้มากกว่าในตำราจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

 

 

 

 

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มสื่อสารองค์การ
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000039769
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001