สื่อประชาสัมพันธ์การแพทย์ฉุกเฉิน
แนวทางการช่วยเหลือคนจมน้ำ ตกน้ำ !!!

 

แนวทางการช่วยเหลือคนจมน้ำ ตกน้ำ
สถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ 36 จังหวัด ประชาชนกว่า 3 ล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90 เสียชีวิตจากการจมน้ำ และการช่วยเหลือคนจมน้ำ
        ดังนั้นการเรียนรู้แนวทางการช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยประการแรก หากต้องช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำ คือ “ต้องมีสติ อย่าผลีผลาม”
 
 
                 จากนั้นวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องมีหลักง่ายๆ อยู่ 4 วิธี คือ “ยื่น – โยน – พาย – ลาก”
โดยเบื้องต้น คือ ยื่นอุปกรณ์ให้จับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วงหรือไม้ตะขอ และโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ จากนั้นผู้ช่วยเหลืออาจเอาเชือกผูกอุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง ซึ่งวิธีการช่วยเหลือดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือจะมีความปลอดภัยเกือบ 100% เพราะผู้ช่วยอยู่บนฝั่งหรือยืนได้ในน้ำตื้น
ส่วนวิธีการกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้น เป็นวิธีการที่ต้องพึงระวังอย่างมาก และผู้ช่วยเหลือจะต้องมีประสบการณ์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำและจมน้ำด้วยวิธีนี้
ทั้งนี้วิธีการที่ถูกต้องคือ ต้องนำอุปกรณ์ช่วยติดตัวไปด้วย เช่น ห่วงยาง โฟม หรือใส่เสื้อชูชีพ และเมื่อว่ายน้ำเข้าไปจวนถึงตัวคนตกน้ำ ให้หยุดอยู่ห่างๆ แล้วยื่นหรือโยนอุปกรณ์ให้เขาเกาะ อย่าเข้าไปจนถึงตัวเพราะผู้ที่จมน้ำหรือตกน้ำอาจเข้ามากอด จนอาจจะทำให้จมน้ำไปด้วยกันได้  เนื่องจากผู้จมน้ำอยู่ในภาวะที่ตกใจ แต่หากผู้จมน้ำโผเข้ามาจะกอดเรา ให้ดำน้ำหนีก่อน หรืออาจใช้วิธีการพายเรือเข้าไปช่วยเหลือ โดยผู้ตกน้ำ ต้องลอยคอ หรือเกาะวัสดุสิ่งของลอยน้ำคอยอยู่
นอกจากนี้ อาจใช้วิธีการ ลากหรือพา โดยหากผู้จมน้ำเป็นคนที่ว่ายน้ำเป็น แต่แค่หมดแรงหรือเป็นตระคริว ไม่ตระหนกตกใจ ผู้ช่วยเหลือจะสามารถลากพาได้ง่าย อาจจะไม่ค่อยมีอันตราย ส่วนการลากพาคนจมน้ำที่ตื่นตกใจ จะต้องใช้ทักษะพิเศษ โดย ต้องใช้ท่า Cross chest คือการเอารักแร้เราหนีบบนบ่าเขา แขนพาดผ่านหน้าอกแบบสะพายแล่งไปจับซอกรักแร้อีกด้าน และว่ายน้ำด้วยท่าSide stroke ซึ่งเป็นท่าที่เหนื่อย หนักแรงและมีอันตรายมากๆ สำหรับคนจมน้ำที่สลบ ต้องใช้ท่าลาก/พาที่ประคองหน้าให้ปากและจมูกพ้นน้ำ เพื่อหายใจได้ตลอด
 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้ช่วยเหลือ จะต้องมีความรู้ คือ การปฐมพยาบาลคจมน้ำก่อนส่งแพทย์ โดย หากหยุดหายใจ คลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้กดหน้าอกทันที โดยกดที่บริเวณกลางหน้าอกประมาณ 1-1.5 นิ้ว 100 ครั้ง ต่อนาที กด 30 ครั้งต่อรอบ สลับกับการเป่าปาก ให้ครบ 5 รอบ
ส่วนการเป่าปากช่วยหายใจ ให้รับดำเนินการทันที อย่าเสียเวลาพยายามเอาน้ำออกจากปอดหรือผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันการณ์และไม่ได้ผล และถ้าเป็นไปได้ควรลงมือเป่าปากตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น พาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้นๆ ทั้งนี้เมื่อเริ่มเป่าปากสักพัก หากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง ให้จับผู้ป่วยนอนคว่ำ ใช้มือ 2ข้างวางใต้ท้องผู้ป่วย ยกท้องผู้ป่วยขึ้น จะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกทางปากได้ แล้วจับผู้ป่วยพลิกหงายและทำการเป่าปากต่อไป
อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก จากนั้นควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใดไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่ารู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ
ทั้งนี้ประชาชนทั่วไป สามารถใช้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน หรือเมื่อพบเห็นผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุ คนจมน้ำ ตกน้ำ สามารถโทรสายด่วน 1669 ขอความช่วยเหลือ บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
 
แหล่งข่าว : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ผู้จัดทำ : กลุ่มสื่อสารองค์การ
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000048435
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000002