ใครคือ EMT?
เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 หลายๆคนคงได้ทราบแล้วว่า ทีม Thailand EMT ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้เป็นทีม EMT ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีการดำเนินงานมุ่งเป้าในระดับโลกกำหนดขึ้น โดยในเนื้อหาของข่าวที่เป็นที่น่าปิติยินดีสำหรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยนี้ได้ระบุไว้ว่า Thailand EMT ดังกล่าวนี้คือ “ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ” หลายๆท่านที่ทำงานหรือคลุกคลีในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยอ่านมาถึงตรงนี้คงเกิดคำถามขึ้นในใจกับประโยคนี้ และเริ่มตั้งคำถามว่า “ใครคือ EMT? ความหมายไม่เหมือนกับ Emergency Medical Technician ซึ่งเป็นคำในภาษาอังกฤษที่เราใช้เรียก “พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (พฉพ.) อย่างนั้นหรือ?”
What is EMT? (ใครคือ EMT?)
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า EMT ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้คือ EMT ในความหมายและบริบทขององค์การอนามัยโลกซึ่งมีความแตกต่างกับความหมายและบริบทที่ประเทศไทยใช้ โดยสำหรับองค์การอนามัยโลกนั้นคำว่า “EMT” ย่อมาจาก “Emergency Medical Team” ซึ่งหมายถึง กลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้การบำบัดรักษาแก่ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบการเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ โดยบุคลากรเหล่านี้อาจมาจากหน่วยงานของรัฐ กองทัพ องค์การระหว่างประเทศ หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรก็ได้ จากคำจำกัดความนี้จะพบว่า EMT ในความหมายขององค์การอนามัยโลกไม่ได้หมายถึงระดับของผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเหมือนที่ประเทศไทยใช้แต่อย่างใด หากแต่ EMT ในฉบับนี้ขององค์การอนามัยโลกอาจประกอบไปด้วยผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับต่างๆและวิชาชีพอื่นๆที่อุทิศตนเพื่อร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) และหมายรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านระบบบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย (Logistic) หัวใจในการปฏิบัติงานของทีม EMT เหล่านี้คือการเป็นทีมที่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วในช่วงชั่วโมงแรกหรือวันแรกๆหลังเกิดเหตุ และต้องพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและความสามารถที่ตนมีโดยไม่ให้เป็นภาระให้กับพื้นที่ประสบภัย (Self-Sufficiency) เราจึงมักจะเห็นภาพของการตั้งโรงพยาบาลสนาม ห้องน้ำ ที่พักและการจัดหาเสบียงมากกว่าการลำเลียงผู้ป่วยจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบสู่โรงพยาบาล ทีม EMT ที่ได้รับรองมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนี้จะเป็นทีมที่มีความสามารถและมีศักยภาพพร้อมในการปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัยซึ่งสำหรับทีม EMT เหล่านี้พื้นที่ประสบภัยที่พวกเขามองหาคือ พื้นที่ประสบภัยในประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นมากกว่าที่จะเป็นประเทศที่ตนเองปฏิบัติงานอยู่ นำไปสู่การหาคำจำกัดความให้กับความหมายของทีม EMT ที่ซับซ้อนนี้ เช่น Internationally Deployed Verified EMTs หรือ International Emergency Medical Teams (I-EMTs)
แนวคิดในการพัฒนา EMT เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเฮติในปี พ.ศ. 2553 ประชาคมโลกต่างพากันให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบกับความพังพินาศและการสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินจำนวนมากเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกมุ่งสู่ประเทศเฮติด้วยจิตอาสาที่เต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นความวุ่นวายที่ไม่คาดคิด ด้วยเหตุที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทำงานในระบบที่แตกต่างกัน พูดภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาในการประสานงาน (Coordination) และยังพบว่าชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเหล่านั้นยังไม่มีความพร้อมในเชิงของทรัพยากรและศักยภาพในการให้บริการที่เพียงพอ ทำให้ต้องร้องขอทรัพยากรเพิ่มเติมจากประเทศที่กำลังประสบภัยและกลายเป็นการสร้างภาระให้แก่ประเทศเหล่านั้นอย่างไม่สมควร ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตที่ป้องกันได้ และด้วยเหตุนี้เองที่องค์การอนามัยโลกเริ่มมีแนวคิดว่าประเทศที่จะรับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเข้ามาให้ความช่วยเหลือนั้นจะต้องได้รับการบริการที่ทันท่วงที สามารถคาดการณ์ได้ และดำเนินการโดยชุดปฏิบัติการที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี สามารถให้บริการที่มีคุณภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่เป็นภาระให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศที่ประสบภัย ประกอบกับมีกลไกการประสานงานระหว่างองค์ประกอบต่างๆเพื่อให้ความพยายามในการให้ความช่วยเหลือจากทั่วทุกมุมโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การพัฒนาคู่มือหลักเกณฑ์มาตรฐานของ EMT หรือ Blue Book
ในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลกพัฒนาคู่มือแนวทางชุด Classification and Minimum Standards for Foreign Medical Teams in Sudden Onset Disasters (Blue Book) เป็นครั้งแรกเพื่อใช้เป็นเกณฑ์การจำแนกและกำหนดมาตรฐานของทีม EMT เอกสารฉบับนี้จะแบ่งประเภท EMT (EMT Types) ออกเป็นประเภทต่างๆ ตามบริการและศักยภาพในการรับผู้ป่วย เช่น EMT Type I Fixed เป็น EMT ที่ให้การบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยผู้ป่วยนอก แต่จะมีสถานที่ในการให้บริการเฉพาะ ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ส่วน EMT Type II ก็จะสามารถให้การบำบัดรักษาที่ครอบคลุมถึงการผ่าตัดตลอด 24 ชั่วโมง เอกสารชุดนี้ยังระบุหลักในการปฏิบัติงาน (Guiding Principles) 6 ข้อ และ มาตรฐานหลัก (Core Standards) 13 ข้อ ที่ระบุถึงมาตรฐานศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เช่น การรายงานผลการดำเนินงาน การจัดหายาและเวชภัณฑ์และการบริจาคเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ การจัดหาอุปกรณ์การบำบัดรักษาและดำรงชีพให้เพียงพอเป็นระยะเวลา 14 วัน แนวทางการจัดการน้ำ ความสะอาดและขยะของเสีย (Water, Sanitation and Hygiene Management) (Waste Management) การจัดหาประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Malpractice Insurance) ฯลฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทีม EMT ทุกทีมจะต้องยึดถือปฏิบัติ ส่วนมาตรฐานเชิงเทคนิค (Technical Standards) นั้นจะเป็นไปตามประเภทของ EMT เช่น การให้บริการ X-ray การผ่าตัด การดูแลสุขภาพเด็ก ฯลฯ สุดท้ายคู่มือนี้จัดให้มีแบบฟอร์มในการลงทะเบียน (Registration) องค์การอนามัยโลกเริ่มใช้เกณฑ์ดังกล่าวในสถานการณ์ไต้ฝุ่น Haiyan โดยพบว่ามาตรฐานเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของทีมกว่า 151 ทีมที่เดินทางเข้าช่วยเหลือและถือเป็นความสำเร็จ การพัฒนาเกณฑ์และแนวทางฉบับนั้นนั้นนำไปสู่การสร้างระบบ FMT (Foreign Medical Teams) Classification List ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินสามารถระบุทักษะและศักยภาพที่ตนมีพร้อมลงทะเบียนไว้กับองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับประเทศต่างๆในระหว่างการพัฒนาทีมที่มีมาตรฐานและในภายหลังมีการเปลี่ยนจากการใช้คำว่า Foreign Medical Teams เป็น Emergency Medical Teams อย่างในทุกวันนี้
จะเป็น EMT ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกได้อย่างไร?
ทีมที่ต้องการได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกและสามารถเรียกตนเองได้ว่าเป็น International EMT จะต้องผ่านกระบวนการ EMT Classification โดยทีม EMT และสมาชิกในทีมจะต้องมีใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพในประเทศของตนเองเสียก่อน มีความเชี่ยวชาญในสาขา มีประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Malpractice Insurance) และมีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของประเทศที่ตนเองปฏิบัติงานอยู่ กระบวนการ EMT Classification จะเริ่มขึ้นตั้งแต่การแสดงความจำนงในการเข้าร่วม WHO Global EMT List การเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อม หรือ Mentorship Program ซึ่งจะเป็นระยะที่องค์การอนามัยโลกจะส่งที่ปรึกษาไปให้คำแนะนำและสนับสนุนประเทศที่แสดงความจำนงในการประเมินศักยภาพของตนเองและขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจประเมินจากการเข้าเยี่ยมตรวจ ณ สถานที่จริง กระบวนการต่างๆเหล่านี้อาจใช้เวลาหลายปีจนกว่าจะได้รับการรับรองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ WHO Global EMT List ซึ่งจะมี Global EMT Registry เป็นระบบเพื่อรองรับข้อมูลการรับรองทีม EMT กระบวนการให้การรับรองนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่จะต้องมีการพิจารณาการรับรองทุกๆ 5 ปี และปัจจุบันมี EMT ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลกแล้วเป็นจำนวน 30 ทีม โดยมีทีมจากประเทศไทยเป็นทีมที่ได้รับการรับรองในลำดับที่ 26
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกก็ยังย้ำว่าการที่ทีม EMT จะได้รับการยินยอมให้ปฏิบัติการในประเทศใดๆนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประเทศผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่จะรับทีม EMT (Receiving Country) นี้ด้วย และเมื่อเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ของประเทศนั้นๆ การสั่งการหรือประสานงานถือเป็นอำนาจของหน่วยงานในท้องถิ่นโดยมีองค์การอนามัยโลกเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น
WHO EMT Initiative มีบทบาทอย่างไร?
หากได้มีโอกาสเปิดแนวทางและมาตรฐานตาม Classification and Minimum Standards for Foreign Medical Teams in Sudden Onset Disasters ก็จะทราบว่าการที่จะพัฒนาทีม EMT ให้มีศักยภาพตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นไม่ง่ายเลยและต้องอาศัยความมุ่งมั้น งบประมาณและความเชี่ยวชาญ องค์การอนามัยโลกไม่ได้ละทิ้งประเทศต่างๆให้เดินทางตามเส้นทางนี้อย่างเพียงลำพังและพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้สามารถพัฒนาศักยภาพของทีม EMT จนถึงขีดมาตรฐานจนนำไปสู่การก่อตั้งโครงการ WHO EMT Initiative ขึ้นตามมา
WHO EMT Initiative เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการออกปฏิบัติการฉุกเฉินที่รวดเร็วและมีคุณภาพโดยยึดหลักเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตและพิการจากผลกระทบของภัยพิบัติ การระบาดของโรคหรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว WHO EMT Initiative จะให้ความช่วยเหลือองค์กรหรือประเทศต่างๆ ที่แสดงความจำนงเพื่อพัฒนาทีม EMT ผ่านกิจกรรมการสร้างเสริมศักยภาพ (Capacity-Building) และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ เช่น สนับสนุนการพัฒนาทีม EMT ให้มีมาตรฐานเพียงพอในการออกปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งภายในและต่างประเทศ ประสานการร้องขอและออกปฏิบัติการของทีม EMT ที่ได้รับการรับรอง และพัฒนากลไกการประสานงานในยามเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ โดยจะถูกแปลงออกมาเป็นกิจกรรมการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา การแลกเปลี่ยนมาตรฐานและการสนับสนุนการประสานงานระหว่างการออกปฏิบัติการ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา WHO EMT Initiative ได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยหลายครั้ง ทั้งจากการให้การสนับสนุนในการพัฒนาทีม EMT Thailand จนสามารถได้รับการรับรองในปี พ.ศ. 2562 และจากการให้ความร่วมมือกับโครงการ ARCH Project หรือ The Project to Strengthening the ASEAN Regional Capacity on Disaster Health Management ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข โดยให้การสนับสนุนหลักสูตรและวิทยากรสำหรับการฝึกอบรม Emergency Medical Team Coordination Cell (EMTCC) สำหรับผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นับว่าเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของวงการสาธารณสุขไทย
EMT และการออกปฏิบัติการในพื้นที่ประสบภัย
ตั้งแต่มีการรับรองมาตรฐานของทีม EMT องค์การอนามัยโลกก็ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือและเริ่มดำเนินการประสานงานเพื่อส่งต่อคำขอไปยังทีม EMT ที่ได้รับการรับรองแล้ว เช่น ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ประเทศทาจิกิสถาน สาธารณรัฐกินีบิสเซา สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ได้ร้องขอทีม EMT ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อให้ความช่วยเหลือในการควบคุมและบำบัดรักษาการติดเชื้อ ซึ่งในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมาองค์กรอนามัยโลกประสบความสำเร็จในการประสานการร้องขอและสามารถสนับสนุนให้ทีม EMT จากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าช่วยเหลือประเทศผู้ร้องขอได้สำเร็จ เช่น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ทีม EMT จากประเทศออสเตรเลียเดินทางเข้าให้ความช่วยเหลือรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ทีม EMT จากสเปนเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากสถานการณ์การระเบิดครั้งใหญ่ในสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินีพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเดือนเดียวกัน และทีม EMT จากสหราชอาณาจักรเข้าให้ความช่วยเหลือประเทศอาร์เมเนียในการต่อสู้กับการระบาดของ COVID-19 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นับว่ากลไกที่องค์การอนามัยโลกกำลังพัฒนาอยู่นี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานในการพัฒนาและอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกเป็นหลัก
ความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติไม่ว่าจะในด้านใดก็ตามจะยังคงมีอยู่และเป็นที่ต้องการมากขึ้นตราบใดที่ความเสี่ยงของการเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด และเราคงจะได้เห็นและรับรู้ถึงการพัฒนาทีมปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีขอบข่ายภารกิจข้ามพรมแดนมากขึ้นนอกเหนือจากทีม EMT ที่ได้กล่าวถึงในครั้งนี้อีกด้วย หลังจากผ่านประสบการณ์การเรียนรู้จากองค์การอนามัยโลกประเทศสมาชิกอาเซียนก็เริ่มตื่นรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการความร่วมมือในลักษณะนี้เช่นกันจนเกิดเป็นกลไกความร่วมมือใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการพัฒนาชุดปฏิบัติการฉุกเฉินซึ่งกลไกเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งสิ้นไม่แพ้กัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
https://extranet.who.int/emt/
https://www.euro.who.int/
https://reliefweb.int/sites/reliefweb.int/files/resources/WHO%20Fact%20Sheet%20-%20Emergency%20Medical%20Teams.pdf