จากจุดเริ่มต้นว่า “เป็นไปไม่ได้” จวบจนถึงวันนี้ ก้าวสู่ One Region One Skydoctor แพทย์ฉุกเฉินทางอากาศทั่วประเทศไทย
เมื่อพูดถึงผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เวลาทุกวินาทีมีความสำคัญ หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล ยิ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ แล้วต้องเดินทางด้วยรถยนต์อาจใช้เวลาเกือบครึ่งวัน หากเป็นเมื่อหลายปีก่อนถ้าบอกว่าจะมีเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินเจ็ตมารับ หลายคนจะบอกว่าเพ้อฝัน แต่มาถึงวันนี้ ถ้าบอกว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินต้องเดินทางไกลและรีบไปรักษา ทุกคนจะบอกว่าให้ขอใช้อากาศยาน
กว่าจะมาเป็น One Region One Skydoctor หรือการมีทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศครอบคลุมทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศในทุกวันนี้ Skydoctor ของประเทศไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยผู้ขับเคลื่อนให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ก็คือ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) คนปัจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. เล่าให้ฟังว่า “ภายหลังจากที่ สพฉ. ก่อตั้งขึ้นตาม พรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน ปี พ.ศ. 2551 มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น แพทย์ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เกิดอาการป่วยฉุกเฉิน พระองค์ทรงรับสั่งให้เฮลิคอปเตอร์ในขบวนเสด็จรีบนำผู้ป่วยรายนั้นส่งโรงพยาบาล และได้ทรงมีรับสั่งกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ว่าประเทศไทยควรมีระบบการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องเดินทางเร่งด่วน เพื่อให้พวกเขารอดชีวิต นพ.ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการ สพฉ. ในเวลานั้นจึงได้น้อมนำเอาพระราชดำริดังกล่าว มาดำเนินการ โดยมอบหมายให้ตนเอง ซึ่งเคยเป็นแพทย์เวชศาสตร์การบิน ของโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นผู้หาแนวทางในการวางระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ”
สพฉ. จึงเริ่มได้เริ่มจากการมองหาอากาศยานที่จะมาลำเลียงผู้ป่วย โดยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขอใช้อากาศยานกับกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชนที่มีอากาศยาน ภายใต้แนวคิดที่ว่า หากอากาศยานลำใดที่ไม่ติดภารกิจ ก็จะยินดีที่จะนำมาช่วยเหลือผู้ป่วย ตามอัตราค่าชดเชยที่ สพฉ.กำหนด คือ 40,000 บาท ต่อ 1 เครื่องยนต์ ต่อ 1 ชั่วโมงบิน และบันทึกข้อตกลงก็จะช่วยลดขั้นตอนการขออนุมัติใช้อากาศยานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แต่การจะนำผู้ป่วยขึ้นสู่ท้องฟ้าไปกับอากาศยาน ผู้ป่วยจะต้องเจอปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ขยายตัวเมื่อขึ้นสู่ที่สูง ออกซิเจนที่เบาบางลง และข้อกำกัดที่ทีมแพทย์ลำเลียงต้องเจอ เช่นพื้นที่ทำงานที่จำกัด เสียง แรงสั่นสะเทือน รวมไปถึงอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่หากไม่วางแผนให้ดีอาจเกิดปัญหาระหว่างทาง สพฉ. จึงได้เริ่มการฝึกอบรมให้ทีมลำเลียง โดยความร่วมมือกับสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ จัดการฝึกอบรมเบื้องต้นให้กับแพทย์พยาบาลในฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้งบประมาณจาก สพฉ. ในการอบรม และทำให้ Skydoctor ในปีแรกได้เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง การใช้อากาศยานก็จะช่วยให้การส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ แม่ฮ่องสอนไปยังเชียงใหม่ เพื่อรักษาเฉพาะทางมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการขอใช้อากาศยานจะประสานผ่านศูนย์ 1669ประจำจังหวัด โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์เวชศาสตร์การบิน หัวหน้าหน่วยบิน และผู้บริหาร สพฉ. ร่วมพิจารณาความเหมาะสมในการบิน และที่สำคัญคือ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว
จนกระทั่งปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง หลายโรงพยาบาลถูกตัดขาดจากเส้นทางรถยนต์ การจะย้ายผู้ป่วยไปยังพื้นที่ปลอดภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้มอบหมายให้ สพฉ. ใช้ระบบ Skydoctor ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราจึงได้เห็นภาพทีมแพทย์นำผู้ป่วยลำเลียงขึ้นเครื่องบินขนาดใหญ่ย้ายข้ามจังหวัด หรือการใช้เฮลิคอปเตอร์ลงจอดในพื้นที่เล็กๆที่เหลือรอดจากน้ำท่วมเพื่อไปรับผู้ป่วย เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของ Skydoctor ที่ต้องมีทั้งในยามปกติและเวลาที่เกิดสาธารณภัย
กว่า 15 ปีผ่านมา Thai Skydoctor เติบโตไปอย่างมากมาย มีการพัฒนาหลักสูตร Basic HEMS สำหรับทีมแพทย์ที่ลำเลียงผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์ มีกำหนดมาตรฐานให้มีหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ และมีการสร้างเครือข่ายประสานงานการส่งต่อทางอากาศในเขตสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ Skydoctor ยังคงมีการใช้งานเพียงเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันตก) และเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 (ภาคใต้) ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาสูงและเกาะในทะเล โดยในเขตสุขภาพอื่นยังไม่ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการรวมถึงการจัดระบบประสานงานการขอใช้อากาศยาน
ก้าวกระโดดสำคัญของ Thai Skydoctor คือการประกาศนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ยกระดับ 30 พลัส Quick win 100 วัน 13 หัวข้อของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเดือนกันยายน 2566 ที่กำหนดให้ One Region One Skydoctor หรือการมีทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศครอบคลุมทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 แก่ชาวไทยและนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ
สพฉ. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุข สี่เหล่าทัพ หน่วยงานด้านการบิน ทำข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนากฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ฝึกอบรม ฝึกซ้อม ทำให้เกิดหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศและมีการสร้างเครือข่ายประสานงานการส่งต่อทางอากาศในทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งจากสถิติการใช้ Skydoctor เพียงแค่ 5 ครั้งในปี 2553 มาจนถึง 105 ครั้ง ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 220 ครั้งต่อปี ในปี 2566 แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและความพร้อมของระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ และจากคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ในตอนนั้น ในอนาคต สพฉ. มีแผนที่จะทำให้ Thai Skydoctor พัฒนาไปสู่ระดับสากล ด้วยการมีเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน หรือ HEMS สามารถเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทุกพื้นที่ของประเทศเกิดขึ้นได้จริง เหมือนในอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิต ให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยว และบุคคลทุกคนในประเทศไทย
กลุ่มพัฒนาและสื่อสารองค์การ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
โทร. 080-071-1669 , 081-989-1669 e-mail : pr@niems.go.th