เข้าสู่ระบบ  ขนาดตัวอักษร  ก   ก   ก  | แสดงผล  C   C   C  | EN TH | Translate

แนะวิธีรับมือภัยหนาว ป้องกันภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน

สพฉ. เตือนกลุ่มเสี่ยง “เด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง” รับมือภาวะอากาศหนาว ชี้อุณหภูมิลดมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจและระบบความดันโลหิตแนะการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วย เร่งทำร่างกายให้อบอุ่น ย้ำห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ระมัดระวังการผิงไฟแก้หนาว

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง สถานการณ์ภัยหนาวในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่าขณะนี้อุณหภูมิในแต่ละพื้นที่เริ่มลดต่ำลงซึ่งอาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติด้วย ดังนั้นขอแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตเพราะอากาศที่หนาวเย็นอาจส่งผลให้สมองและประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติรวมถึงทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติด้วย

 

นอกจากนี้สภาพอากาศที่หนาวเย็นยังทำให้ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นและระบบความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือด เพราะจะมีระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นดังนั้นจึงควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยฉุกเฉินควรรีบแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 โดยการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้นนั้น จะต้องรีบทำให้ร่างกายผู้ป่วยอบอุ่น กรณีที่อยู่กลางแจ้ง ควรหาผ้าคลุมถึงหน้าและศีรษะ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนจัดที่ให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ ในท่านอนหงายบนพื้นที่อบอุ่นหรือมีผ้าหนาๆ ปูรอง และหากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่นๆห้ามดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด เพราะเป็นความเชื่อที่ผิดรวมทั้งจะเป็นการเร่งให้ร่างกายสูญเสียความร้อนมากขึ้นด้วย

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศหนาวจะต้องระมัดระวังวิธีช่วยให้ร่างกายอบอุ่นด้วย เช่น การผิงไฟแก้หนาวเพราะมีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ ไฟลวก และขาดอากาศหายใจ เนื่องจากสำลักควันได้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งนี้หากเป็นหวัด ถ้าออกนอกบ้านให้สวมผ้าปิดปากป้องกันการติดเชื้อสู่คนรอบข้าง และหากร่างกายเปียกน้ำให้รีบเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อป้องกันภาวะปอดบวม

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า นอกจากอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว อุบัติเหตุเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมาก ด้วยเพราะทัศนวิสัยที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นผู้ที่ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวังซึ่งหากต้องขับรถผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาให้เปิดสัญญาณไฟหน้ารถและไฟตัดหมอก เพื่อให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนขึ้น ห้ามเปิดใช้สัญญาณไฟสูง เพราะแสงไฟจะสะท้อนเข้าตาผู้ขับขี่รายอื่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่แซง ไม่เปลี่ยนช่องทางหรือหยุดรถกะทันหัน และกรณีมีละอองฝ้าเกาะกระจกรถ ให้เปิดที่ปัดน้ำฝน พร้อมทั้งใช้ผ้าแห้งเช็ดกระจก ปรับลดอุณหภูมิในรถให้ต่ำกว่านอกรถ ลดระดับกระจกหน้าต่างลง จะช่วยไล่ละอองน้ำที่เกาะตามกระจากรถให้จางหายไปเร็วขึ้นอย่างไรก็ตามหากพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ และขอคำแนะนำได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 


สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553
เนื้อหาและรูปที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อสื่อสาร ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
Copyright © NIEM - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) 2019

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

โทรศัพท์ 0-2872-1600 โทรสาร 028721604 Email : saraban@niems.go.th
88/40 หมู่ที่ 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
สาธารณสุขซอย 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
saraban@niems.go.th 0-2872-1600 niem1669 1669NIEM NIEMS_1669 @niem1669
ปริมาณการเข้าชม วันนี้ 1 ทั้งหมด 466