เข้าสู่ระบบ  ขนาดตัวอักษร  ก   ก   ก  | แสดงผล  C   C   C  | EN TH | Translate

อีกฉากชีวิต..ช่วงมี 'ม็อบ''ทีมแพทย์ฉุกเฉิน' 'สีขาว' กลุ่มนี้ 'ไม่มีแอ๊บ'

 

ยามที่บ้านเมืองเกิดมีการรวมตัวของกลุ่มมวลชนกลุ่มต่าง ๆ ยามที่มี “ม็อบใหญ่” เกิดขึ้น หนึ่งในฝ่ายที่ต้อง “รับบทหนัก” เช่นกัน ไม่ว่าจะถึงขั้นมีการปะทะหรือไม่ก็ตาม ก็คือ “ทีมแพทย์ฉุกเฉิน” ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึง แพทย์ พยาบาล  เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ วันนี้มาดูฉากชีวิตคนกลุ่มนี้ ยามที่มี “ม็อบแดง” รวมพลในกรุงฯ

 

'ทีมแพทย์ฉุกเฉิน' 'สีขาว' กลุ่มนี้ 'ไม่มีแอ๊บ'

ยามที่บ้านเมืองเกิดมีการรวมตัวของกลุ่มมวลชนกลุ่มต่าง ๆ ยามที่มี “ม็อบใหญ่” เกิดขึ้น หนึ่งในฝ่ายที่ต้อง “รับบทหนัก” เช่นกัน ไม่ว่าจะถึงขั้นมีการปะทะหรือไม่ก็ตาม ก็คือ “ทีมแพทย์ฉุกเฉิน” ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึง แพทย์ พยาบาล  เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ วันนี้มาดูฉากชีวิตคนกลุ่มนี้ ยามที่มี “ม็อบแดง” รวมพลในกรุงฯ

“การทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินเราจะมีแผนรองรับไว้ตลอดเวลา โดยมีการจัดลำดับขั้นในกรณีเกิดเหตุขึ้น เริ่มจากการเตรียมความพร้อมภายในหน่วย โดยให้ความร่วมมือกับ ศูนย์เอราวัณ และประสานงานกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) โดยหลัก ๆ คือ เตรียมพร้อมและเฝ้าระวัง การทำงานก็จะแบ่งจุดและจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำตามที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์มีคำสั่งร้องขอมา และเน้นความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก”
    
...เป็นคำบอกเล่าของ นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธาน ศูนย์อุบัติภัยหมู่ โรงพยาบาล รามาธิบดี หนึ่งในทีมแพทย์-สถาบันทางการแพทย์ที่เป็นทีมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่ง นพ.สุรศักดิ์เล่าอีกว่า ในการทำงานนั้นจะมีการแบ่งโซนพื้นที่ทำงานและแบ่งลักษณะอาการผู้บาดเจ็บ ออกเป็น    “สี” คือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว ซึ่งพื้นที่หรือโซนจะแบ่งตามระดับ “ความรุนแรง” ของเหตุการณ์ คือ สีแดง-พื้นที่เกิดเหตุ สีเหลือง-พื้นที่ห่างจุดเกิดเหตุและเป็นจุดรอรับผู้บาดเจ็บ สีเขียว-พื้นที่ปลอดภัยและเป็นจุดประจำของเจ้าหน้าที่ โดยปกติจะไม่มีการเข้าไปในโซนแดง
    
การจำแนกอาการ สีแดง-เป็นผู้บาดเจ็บที่ต้องรับการปฐมพยาบาลเร่งด่วนที่สุด สีเหลือง-อาการหนัก แต่ไม่เท่าสีแดง สีเขียว-ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย นอกจากนี้ ก็มีแผนงานภายในของทุกฝ่าย ตั้งแต่ทีมแพทย์ พยาบาล จนถึงเจ้าหน้าที่ส่วนอื่น ๆ แม้กระทั่ง แม่บ้าน-แม่ครัว ก็ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในสถานการณ์ลักษณะนี้ด้วย 
    
รูปแบบการทำงานของทีม หลังทราบข่าว จาก ศูนย์วิทยุ เช่นจาก ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ทางหัวหน้าห้องฉุกเฉินจะทำการเตรียมพื้นที่ และประเมินจำนวนผู้บาดเจ็บ หากมาที่ห้องฉุกเฉินไม่เกิน 15 คน ก็จะใช้รหัส 000 แต่ถ้ามีมากกว่า 15 คน หรือไม่ถึง 15 แต่บาดเจ็บสาหัสมาต่อเนื่องมากกว่า 4 คน ก็จะประกาศรหัส 111 เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทุกแผนกส่งตัวแทนลงมาประจำการตามพื้นที่ที่กำหนดไว้ โดยมีทีมสนับสนุนพร้อมช่วยตามจุดที่กำหนดไว้ อาทิ หน่วยล้างสารพิษ, หน่วยคัดกรอง เป็นต้น 

“เราใช้สีจำแนกผู้บาดเจ็บ ทำให้จัดลำดับความหนักเบาได้เร็วขึ้น การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น อันนี้เป็นแผนสากลที่ปฏิบัติกัน ไม่ได้แบ่งสีแบ่งข้างหรือไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง เรื่องสีนี้แรก ๆ ก็มีปัญหา เพราะเกิดการเข้าใจผิด เช่น เป็นผู้บาดเจ็บจากม็อบสีเหลือง อาการหนักเข้ามา พอเจ้าหน้าที่คัดกรองระบุว่าสีแดง ซึ่งหมายถึงระดับอาการ คนไข้ก็จะมองหน้า และบอกว่าเขาสีเหลือง ก็ต้องอธิบาย” 

    
นพ.สุรศักดิ์ บอกด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้มีประสบการณ์กันมากขึ้น สิ่งที่เพิ่มจากขั้นตอนการรักษาก็คือเรื่องของจิตใจคนไข้ โดยต้องมี นโยบายเลยว่าต้องปกปิดชื่อและข้อมูลผู้บาดเจ็บจากคนที่ไม่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจ “การแถลงข่าวก็จะใช้การปิดประกาศ เพื่อป้อง กันความสับสนคลาดเคลื่อน หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง เราไม่อยากจะกลายเป็นคนในวงล้อมของสีใด” 


    

ด้าน พญ.จันทิรา แก้วสัมฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวช โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เล่าว่า ที่นี่มีฐานะเป็นศูนย์รับแจ้งและสั่งการประจำจังหวัดนนทบุรี ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1669 โดยสามารถแจ้งหรือเรียกการสนับสนุนจากโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ทั้งหมด โดยเมื่อได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่วิทยุจะทำการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นให้มากที่สุด เพื่อส่งต่อให้หัวหน้าชุด เพื่อจะนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนระบุลำดับการทำงาน 

เมื่อรถกู้ชีพออกไปก็จะมีการประสาน กรณีสถานการณ์เลวร้ายมากก็จะมีแผนรองรับ เช่น  มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ลำดับแรก ปิดรับคนไข้จากส่วนอื่น ลำดับสอง ถ้าแผนกฉุกเฉินรองรับไม่ไหวก็ระดมบุคลากรส่วนอื่นมาช่วย ลำดับที่สาม ถ้ามีปริมาณมากเกินจากที่จะรับได้ก็จะปิดรับ และประสานส่งไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง 
    
“คุณสมบัติเจ้าหน้าที่ส่วนนี้ ต้องตื่นตัว มีสมาธิ มีระเบียบวินัย เพราะในสถานการณ์ไม่ปกติจะมีทีมจากหลายหน่วย ซึ่งต้องเรียนรู้ว่าต้องฟังคำสั่งใคร ผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้ประจำจุดไหนก็ต้องอยู่ การกินการอยู่ ความเหนื่อยยากลำบาก ก็ต้องมีอยู่แล้ว แต่ทุกคนก็รับรู้ว่าเป็นหน้าที่ ส่วนใหญ่ก็จะเตรียมตัวกันมา เรื่องความกลัว ก็ต้องมีกันบ้าง แต่เราก็มีหลักอยู่แล้วว่าเราต้องรอด ผู้บาดเจ็บถึงจะรอด ถ้าเราไม่ปลอดภัย คนอื่น ๆ ก็คงไม่ปลอดภัย ต้องคิดเสมอว่าเราไม่ใช่พระเอก เป็นเพียงผู้สนับสนุนช่วยเหลือ”

ต่อเนื่องด้วย ดารุณี ศาสนกุล พยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการ หัวหน้าศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งเล่าว่า รับผิดชอบงานด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2542 ภารกิจหลักคือการลดความเสี่ยง ความสูญเสียของผู้บาดเจ็บระหว่างนำส่ง ภายใน 1 ทีม หรือรถ 1 คัน จะประกอบด้วยพนักงานขับรถ 1 คน พยาบาล 1 คน และเจ้าหน้าที่ประจำรถ 2 คน แต่ถ้าหากเกิดสถานการณ์รุนแรงหรือมีการประเมินว่าจะมีผู้บาดเจ็บที่มีอาการหนักมาก ก็อาจเสริมแพทย์ฉุกเฉินเข้าไป 
    
ทุก ๆ วันก็จะต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ทั้งรถ คน และอุปกรณ์ ต้องเช็กตลอด ซึ่งใน 24 ชั่วโมงแบ่งเป็น 3 ผลัดคือ เช้า บ่าย ดึก และจะมีการประสานงานระหว่างศูนย์และพื้นที่เกิดเหตุ โดยชุดปฏิบัติการจะทำการประสานและคอยฟังคำสั่งจากผู้บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทำหน้าที่กำหนด วางแผน และควบคุมทีมกู้ชีพจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่สับสน รวมถึงดูแลความปลอดภัยบุคคลากรในพื้นที่ด้วย 
    
พอรับแจ้งว่าเกิดเหตุ ก็ต้องนำข้อมูลที่ได้มาทำการประเมินวางแผนกันก่อน โดยระดับบนก็จะมีผู้บัญชาการภาคสนามเป็นคนกำหนดแผน วางแผนว่าทีมใดจะเข้า-จะออก รวมถึงประสานกับหน่วยและกลุ่มต่าง ๆ ระดับปฏิบัติเมื่อได้รับแจ้งก็จะนำข้อมูลมาประชุมวางแผนอีกต่อหนึ่ง เพื่อจะได้เตรียมอุปกรณ์ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ส่วนตัวยอมรับว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะได้อะไรกลับ มาทุกครั้ง ประสบการณ์ ความชำนาญเพิ่มขึ้น แต่ จริง ๆ ไม่อยากให้เกิด

สำหรับการทำงานท่ามกลางการชุมนุม หรือ “ม็อบ” ดารุณีบอกว่า การกินการอยู่ไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ทุกคนกินง่าย-นอนง่ายกันอยู่แล้ว อาหารการกินก็จะตระเตรียมกันมาบ้าง อาทิ พวกเครื่องกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่บางทีก็อาศัยฝากท้องไว้กับม็อบ แต่เรื่องห้องน้ำก็อาจมีปัญหานิดหน่อย

เราถามทิ้งท้ายเรื่อง “ความกลัว-ความเหนื่อยยากลำบาก” ยามมีม็อบ หนึ่งในทีมฉุกเฉินรายหลังนี้บอกว่า ทุกคนย่อมมี แต่ “หน้าที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ที่สำคัญ พวกเราทุกคนไม่แบ่งแยกว่าสีไหน ๆ”
    
เรามีเพียงสีเดียว คือสีขาว 
    
สีที่ช่วยเหลือคนไข้”.

 

 

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553
เนื้อหาและรูปที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อสื่อสาร ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
Copyright © NIEM - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) 2019

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

โทรศัพท์ 0-2872-1600 โทรสาร 028721604 Email : saraban@niems.go.th
88/40 หมู่ที่ 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
สาธารณสุขซอย 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
saraban@niems.go.th 0-2872-1600 niem1669 1669NIEM NIEMS_1669 @niem1669
ปริมาณการเข้าชม วันนี้ 1 ทั้งหมด 767