เข้าสู่ระบบ  ขนาดตัวอักษร  ก   ก   ก  | แสดงผล  C   C   C  | EN TH | Translate

ทำอย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อ “ติดปีก”

 


เมื่อพูดถึงการ “นั่งเครื่องบิน”  ใครที่เพิ่งขึ้นเป็นครั้งแรกคงรู้สึกตื่นเต้น เพราะจะได้เห็นบรรยากาศทิวทัศน์มุมใหม่เหมือนได้ลอยอยู่บนท้องฟ้า แต่บางคนการเดินทางโดยเครื่องบินกลับสร้างความวิตกกังวลใจและยากที่จะรู้สึกดีได้ เพราะมีความคิดที่ว่า ..หากเกิดเหตุการณ์ ไม่คาดฝันหรือความผิดพลาดกลางอากาศขึ้นแล้วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะปลอดภัย !! 
  
การเดินทางโดยเครื่องบินอย่างปลอดภัยเพื่อให้เกิดความกังวลในการเดินทางน้อยที่สุด กัปตันพุฒิพันธุ์ เธียรวรรณ ผู้จัดการกองคุณภาพความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความรู้ว่า ผู้โดยสารควรเตรียมการโดยหาข้อมูลก่อนเดินทาง ซึ่งปัจจุบันสายการบินได้จัดเผยแพร่ไว้ทางสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียล มีเดีย) ของสายการบินมากขึ้น เมื่อเดินขึ้นเครื่อง ควรให้ลูกเรือดูบัตรที่นั่ง เพราะอาจเกิดกรณีขึ้นเครื่องผิดลำได้  
  
สิ่งที่ต้องระวังต่อมา คือ ไม่ควรถ่ายรูป ในขณะที่อยู่บริเวณสนามบินที่มีเครื่องบินจอดอยู่ เพราะเครื่องบินลำข้าง ๆ อาจกำลังเติมน้ำมัน ทำให้เกิดประกายไฟขึ้นได้ รวมทั้ง หลาย ๆ ประเทศก็มีข้อห้ามเด็ดขาดในการถ่ายภาพ ดังนั้น จึงขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือ 
  
ส่วน กระเป๋าสัมภาระ ไม่ควรบรรจุสัมภาระที่มีน้ำหนักมากกว่าที่กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดไว้ 7 กิโลกรัม และควรเก็บไว้บนช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ เนื่องจากสิ่งของอาจจะหล่นลงมากระแทกศีรษะทำให้บาดเจ็บระหว่างการบิน เมื่อเครื่องเกิดตกหลุมอากาศหรือเกิดการสั่นระหว่างกำลังบินได้ 
  
’กระเป๋าที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากเกินกว่าที่กำหนดควรโหลดไปใต้ท้องเครื่อง ส่วนกระเป๋าที่ใหญ่เกินกว่าที่จะเก็บไว้ใต้ที่นั่งด้านหน้าได้ ให้เก็บไว้ในช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะ เพราะการวางกระเป๋าไว้ด้านล่างหลังขาหรือหลังน่องอาจกีดขวางทางออกในเวลาฉุกเฉินได้  
  
รวมถึง ไม่ควรนำกระเป๋ามากอดไว้ที่ตัก แต่ถ้าจะนำมาไว้ที่ตักควรเป็นกระเป๋าที่มีซิปปิดมิดชิด เพราะเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินหรือมีการกระแทกอย่างรุนแรงกระเป๋าอาจหล่นหลุดจากมือ ข้าวของที่อยู่ข้างในกระเป๋าจะได้ไม่กระเด็นออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารคนอื่น“ 

ใครที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปด้วยไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง เพราะมีผลต่อความปลอดภัย เนื่องจากกรงสัตว์อาจจะกีดขวางเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ผู้โดยสารอาจจะสะดุดหกล้มได้ ตลอดจนการเข้าเมืองของแต่ละประเทศมีความเข้มงวดในการกักกันสัตว์มากขึ้น แต่สามารถโหลดใต้ท้องเครื่องได้โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้เป็นอย่างดี จะยกเว้นในกรณีสุนัขนำทางของคนตาบอดที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น 

สำหรับ การแต่งกาย ควรใส่ชุดที่ทะมัดทะแมง เพราะเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นและจำเป็นต้องกระโดดสไลด์ซึ่งเป็นแพยางออกจากเครื่องบินด้วยความรวดเร็ว จะเกิดการเสียดสี ซึ่งถ้าหากถูกผิวหนังจะเกิดเป็นแผลหรือบาดเจ็บได้  ฉะนั้น การแต่งกายควรรัดกุม ถ้าหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้นหรือสวมรองเท้าส้นสูง ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยแต่เพื่อลดความเสี่ยงและทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น 
  
ด้าน เทพฤทธิ์  ยอดประสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานด้านความปลอดภัยในห้องโดยสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความปลอดภัยเกี่ยวกับที่นั่งบนเครื่องบินว่า การย้ายที่นั่งไม่ควรย้ายที่นั่งกันเอง เพราะจะทำให้เครื่องบินเสียสมดุลได้ ถ้าจำเป็นต้องย้ายที่นั่งจริง ๆ ควรแจ้งให้ลูกเรือทราบ เพื่อที่ลูกเรือจะได้ประสานกับนักบินในการปรับน้ำหนักบนเครื่องบินแต่ละด้านให้เกิดความสมดุลกัน 

“โดยเฉพาะ ที่นั่งตรงประตูฉุกเฉิน ไม่ควรสลับให้ใครมานั่งแทน เนื่องจากมีข้อจำกัด เพราะมีบุคคล 11 ประเภท ที่ไม่อนุญาตให้นั่ง เช่น สตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนอ้วน  พระภิกษุ และผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น เนื่องจากเมื่อมีกรณีฉุกเฉินอาจจะเปิดประตูได้ลำบาก ฉะนั้น ผู้โดยสารที่นั่งตรงประตูฉุกเฉินจึงต้องเป็นผู้ที่ไม่เป็นอุปสรรค และสามารถช่วยเหลือลูกเรือได้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเปิดประตู รวมถึงอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมมากกว่าที่นั่งในส่วนอื่น เช่น ไม่สามารถวางสัมภาระบริเวณใต้ที่นั่งได้ หรือไม่สามารถใช้หมอนและผ้าห่มระหว่างที่เครื่องขึ้น-ลงได้ ซึ่งตรงนี้ผู้โดยสารต้องทำ ความเข้าใจและปฏิบัติตามเพื่อความปลอด ภัย” 
  
รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์บนเครื่องบินอย่าง ผ้าห่ม การใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย คือ เวลาใช้ให้ห่มตัวแล้วรัดเข็มขัดไว้นอกผ้าห่ม ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันผ้าห่มเลื่อนลงมาที่พื้นแล้ว ยังทำให้ลูกเรือสามารถตรวจสอบการรัดเข็มขัดได้โดยไม่ต้องรบกวนเวลาที่หลับอีกด้วย  และเมื่อไม่ใช้แล้วอย่ากองไว้กับพื้น ควรเก็บไว้หลังที่นั่งหรือคืนให้กับลูกเรือ จะได้ไม่เป็นอุปสรรคหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารคนอื่นหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น ตลอดจน ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะความดันอากาศที่อยู่บนเครื่องบินจะแตกต่างจากความดันอากาศปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเมาได้ง่ายขึ้น 
  
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ส่วนมาตรฐานความปลอดภัย นิรภัย และงานบริการในห้องโดยสาร สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวถึง สิ่งที่ไม่ควรละเลยเมื่อต้องโดยสารเครื่องบินว่า ก่อนที่เครื่องบินจะออกเดินทางจะมีการสาธิตและให้คำอธิบายก่อนการเดินทาง ควร ตั้งใจฟังประกาศและการสาธิตการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน หรือ Safety Demonstration Video เกี่ยวกับข้อมูลความปลอดภัยก่อนที่เครื่องจะขึ้น รวมถึง ศึกษาแผ่นพับข้อมูลความปลอดภัยในกระเป๋าหน้าที่นั่งของตัวเอง เพื่อดูว่าตนเองอยู่ส่วนไหนของเครื่องบิน ประตูทางออกฉุกเฉินมีกี่ประตู และประตูทางออกที่ใกล้ตัวเองที่สุดอยู่ตรงไหน ซึ่งอาจจะอยู่แค่ข้างหลังตัวเราก็ได้ เพราะเมื่อต้องการไปยังประตูฉุกเฉินจะได้มุ่งไปได้ทันที   

’ถึงแม้ว่าคำอธิบายก่อนการเดินทางจะเป็นเรื่องเดิม ๆ สำหรับผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินเป็นประจำ จะแตกต่างกันบ้างในส่วนของตำแหน่งประตูฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดซึ่งแตกต่างกันไปตามแบบของเครื่องบินที่เดินทาง รวมทั้งตำแหน่งที่เรานั่ง แต่ก็ไม่ควรละเลยในคำอธิบายเหล่านี้ เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ คงจะไม่มีเวลามาถามว่า ประตูฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหน“ 

การรัดเข็มขัดนิรภัย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้โดยสารควรให้ความสำคัญเช่นกัน โดยจะต้องรัดให้แน่นกระชับ ไม่ใช่รัดหลวม ๆ สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางกับเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 2 ขวบต้องใช้สายเข็มขัดพิเศษสำหรับเด็ก โดยขอได้จากพนักงานต้อนรับ สำหรับเด็กอายุเกิน 2 ขวบนั้น  ต้องรัดเข็มขัดบนที่นั่งของตัวเอง และห้ามเด็ดขาดที่จะรัดเข็มขัดโดยการนำเด็กนั่งบนตักแล้วใช้เข็มขัดเส้นเดียวกับผู้ปกครองรัดไว้ทั้งสองคน เนื่อง จากเมื่อเครื่องต้องทำการหยุดหรือเบรก น้ำหนักตัวของคุณพ่อ คุณแม่ จะถูกถ่ายไปยังเด็กที่นั่งตัก ทำให้เด็กบาดเจ็บได้ และในระหว่างเที่ยวบินที่สัญญาณรัดเข็มขัดดับลงก็ยังคงแนะนำให้ทำการรัดเข็มขัดไว้ตลอดเวลา เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่สภาพอากาศที่แปรปรวนโดยไม่สามารถแจ้งให้ทราบล่วงหน้าได้ 

ในส่วนของ การเปิดม่านหน้าต่างระหว่างเครื่องขึ้น-ลง เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากลูกเรือและผู้โดยสารเองจะสามารถสังเกตความผิดปกติภายนอกได้อย่างรวดเร็วขณะที่เครื่องขึ้น-ลง หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งหน่วยกู้ภัยก็สามารถมองเห็นเข้ามาภายในเครื่องได้เพราะหน้าต่างไม่สามารถเปิดจากด้านนอกได้ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องปิดในระหว่างที่เครื่องขึ้น–ลง  เพราะอาจรบกวนระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินกับหอบังคับการบินได้ ทำให้ได้รับการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนหรือขาดการติดต่อสื่อสารกันได้  รวมทั้งระบบนำร่องการบินที่อาจเกิดความผิดพลาดในการส่งสัญญาณได้ 
  
การนั่ง การพับเก็บโต๊ะและการปรับเก้าอี้ให้เข้าที่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการนั่งให้อยู่ในท่านั่งที่ถูกต้องจะปลอดภัยเวลาเครื่องขึ้น-ลง ซึ่งจะต้องวางเท้าราบกับพื้น ส่วนการพับโต๊ะเก็บเข้าที่นั้นทำให้การอพยพลงจากเครื่องในกรณีฉุกเฉินทำได้รวดเร็ว เพราะไม่มีสิ่งกีดขวาง 
  
ในกรณีที่โชคไม่ดี อาจจะต้องตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่สภาพอากาศแปรปรวน ตกหลุมอากาศ สูญเสียความดันอากาศ หรือต้องบินหลบเครื่องบินลำอื่นอย่างกะทันหัน กัปตันพุฒิพันธุ์ กล่าวถึงการปฏิบัติตัวว่า เมื่อสัญญาณรัดเข็มขัดติดขึ้นระหว่างเที่ยวบิน มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่สภาพฉุกเฉิน ผู้โดยสารควรนั่งรัดเข็มขัดอยู่กับที่ ไม่ลุกไปไหนโดยไม่จำเป็น ในกรณีที่ไม่สามารถกลับที่นั่งได้ทันให้รีบหาที่นั่งที่ว่างที่ใกล้ที่สุดนั่ง แต่ถ้าไม่มีให้ร้องขอความช่วยเหลือจากลูกเรือ อย่าพยายามเดินต้านกลับมาที่นั่งตนเอง เนื่องจากเครื่องบินอาจมีอาการสั่นหรืออาจเกิดการกระแทกรุนแรงจนเป็นอันตรายได้ 

หากผู้โดยสารกำลังอยู่ในห้องน้ำขอให้พยายามกลับที่นั่งของตนเองและรัดเข็มขัด ถ้ากลับมาไม่ทันให้นั่งในห้องน้ำโดยหาที่ยึดจับไว้เพื่อให้เกิดความมั่นคง รอจนกว่าจะกลับสู่สภาวะปกติ หรือจะกดปุ่มเรียกลูกเรือเพื่อขอความช่วยเหลือและปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือต่อไป 
  
“ในกรณีเข้าสู่สภาวะฉุกเฉินโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ซึ่งอาจจะสังเกตได้จากลูกเรือหยุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม ให้ผู้โดยสารรีบนั่งประจำที่แล้วรัดเข็มขัดทันที ส่วนผู้โดยสารที่มีเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปให้เด็กนั่งที่นั่งตนเองแล้วรัดเข็มขัดโดยเอาหมอนหนุนด้านหลังของเด็กให้ตัวเด็กติดกับหัวเข็มขัด แต่ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบให้อุ้มไว้ที่ตักผู้ปกครอง 
  
การเจ็บป่วยบนเครื่องเป็นสาเหตุของการนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินได้ ฉะนั้นผู้โดยสารที่มีโรคประจำตัวควรพกยาติดตัวขณะเดินทาง ไม่ควรโหลดใต้ท้องเครื่อง รวมทั้ง แจ้งอาการป่วยของตนให้สายการบินทราบขณะจองตั๋วหรือเช็กอินก่อนขึ้นเครื่อง และแจ้งให้ลูกเรือบนเครื่องทราบ นอกจากนี้ เมื่อมีอาการผิดปกติกับร่างกายในระหว่างบิน ขอให้รีบแจ้งให้ลูกเรือทราบทันที” 

ถึงแม้การเดินทางโดยเครื่องบินจะเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นได้เช่นกัน ผู้โดยสารจึงต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาในระหว่างการเดินทาง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นให้ออกจากเครื่องให้เร็วที่สุด ไม่ควรห่วงสัมภาระสิ่งของใด ๆ อย่าชะล่าใจคิดว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินจะไม่เกิดขึ้นในวันที่เราเดินทาง ทำให้เพิกเฉยต่อกฎความปลอดภัยด้านการบิน และสิ่งที่สำคัญ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรืออย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและผู้โดยสารคนอื่นที่ร่วมเดินทางด้วย  จะได้ “บินปลอดภัย ใจอบอุ่น”.

ขณะอยู่บนเครื่องบินผู้โดยสารควรปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังนี้

- โทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกชนิด วิทยุสื่อสารแบบพกพา เครื่องรับส่งวิทยุทุกชนิด อุปกรณ์สื่อสัญญาณทุกชนิด เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ทุกชนิด วิทยุติดตามตัวรวมทั้ง ของเล่นใช้วิทยุบังคับ และของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ 
  
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ได้หลังจากเครื่องขึ้นแล้ว 15 นาที และต้องหยุดใช้ เมื่อเริ่มลดระดับเพดานบินและไฟสัญญาณแจ้งรัดเข็มขัดติด ได้แก่ เครื่องคิดเลข เครื่องโกนหนวด ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าที่ไม่ต่อกับเครื่องพิมพ์ เครื่องเล่นวิดีโอชนิดพกพา เครื่องเล่นเกม เครื่องเล่นเทป ซีดี มินิดิสก์ เอ็มพี 3 และดีวีดี ทั้งนี้ต้องใช้กับหูฟังเท่านั้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ และพีดีเอที่มีระบบการทำงานไฟลต์โหมดสามารถเปิดใช้งานได้เมื่อตั้งค่าในไฟลต์โหมดเท่านั้น 

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ได้ตลอดเที่ยวบิน ได้แก่ เครื่องช่วยฟัง เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งบนเครื่องบิน 

สำหรับเครื่องเล่นเทป ซีดี มินิดิสก์  เอ็มพี 3 และดีวีดี แม้จะไม่รบกวนระบบเท่าเครื่องมือสื่อสาร แต่การฟังเพลงหรือใส่หูฟังระหว่างที่เครื่องขึ้น-ลง จะทำให้ไม่ได้ยินการประกาศแจ้งที่สำคัญต่าง ๆ ในกรณีฉุกเฉิน จึงไม่ควรใช้ในระหว่างที่เครื่องขึ้น-ลง

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ thaiairway 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553
เนื้อหาและรูปที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อสื่อสาร ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
Copyright © NIEM - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) 2019

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

โทรศัพท์ 0-2872-1600 โทรสาร 028721604 Email : saraban@niems.go.th
88/40 หมู่ที่ 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
สาธารณสุขซอย 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
saraban@niems.go.th 0-2872-1600 niem1669 1669NIEM NIEMS_1669 @niem1669
ปริมาณการเข้าชม วันนี้ 1 ทั้งหมด 3070