เข้าสู่ระบบ  ขนาดตัวอักษร  ก   ก   ก  | แสดงผล  C   C   C  | EN TH | Translate

มหันตภัยจากสารเคมี เรียนรู้วิธีกู้ภัยฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุ

  

มหันตภัยจากสารเคมี
เรียนรู้วิธีกู้ภัยฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุ !!!
 
 
ระทึก! ก๊าซพิษรั่วไหล , ซ้ำซาก! สารเคมีท่อบำบัดมลพิษรั่ว , รถพ่วง18ล้อชนรถแก๊สปตท.บึ้มเจ็บ2 , รถตู้บึ้ม-คาดก๊าซเอ็นจีวีรั่ว , โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บึ้มคนงานเจ็บนับ20  เป็นข่าวที่ปรากฎอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าวโทรทัศน์ให้เห็นจนชินตา  ซึ่งส่วนมากผู้ประสบภัยจะได้รับบาดเจ็บ หรือร้ายแรงสุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นนอกจากการป้องกัน และเพิ่มความระมัดระวังในเบื้องต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องตระหนักรู้ คือวิธีการช่วยเหลือและการกู้ภัยจากอุบัติเหตุทางสารเคมีอย่างถูกวิธี
        แต่ที่ผ่านมา "การกู้ภัยสารเคมีอันตราย" อาจยังมี "ช่องโหว่" อยู่บ้าง เนื่องด้วยปัจจัยในการเข้าถึงข้อมูล และความรู้ในการช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตามกรณีของผู้ที่สูดดมสารเคมีเข้าไป อาการเบื้องต้นคือแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มึนงง ซึ่งการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เริ่มแรกควรใช้ผ้าสะอาดปิดจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย พยายามออกไปอยู่ในบริเวณที่อากาศสามารถถ่ายเทได้อย่างสะดวก และเหนือลม และทำการช่วยเหลือเบื้องต้น จากนั้นต้องโทรแจ้งหน่วยงานที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ อาทิ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โทร 1669 โดยเร็วที่สุด เพราะการช่วยเหลือที่ผิดวิธี อาจนำไปสู่หนทางอันตรายได้
สำหรับการช่วยเหลือการกู้ภัยควรเตรียมพร้อมจัดทำเป็นแผน 3 ขั้นตอน คือ 1.การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ 2.การขนส่งผู้ป่วย 3.การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล
        ทั้งนี้การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ ประกอบด้วย 3 ทีม คือ 1.ทีมหน่วยกู้ภัย เป็นทีมที่จะต้องผ่านการอบรม และมีความชำนาญเป็นพิเศษ โดยระหว่างปฎิบัติหน้าที่จะต้องสวมชุดป้องกันสารเคมีระดับเอ นอกจากนี้หน้าที่ของทีมหน่วยกู้ภัยคือ ประเมินสถานการณ์ของอุบัติเหตุอุบัติภัย กำหนดแบ่งเขตพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีว่าเป็นเขตอันตราย (hot zone) มีการปนเปื้อนสูง  เขตล้างตัวผู้ป่วย (warm zone) มีการปนเปื้อนต่ำ หรือ เขตปลอดภัย (cold zone) ซึ่งต้องอยู่เหนือลม รวมทั้งมีหน้าที่ กันประชาชนออกจากพื้นที่อันตราย และลำเลียงผู้บาดเจ็บหรือปนเปื้อนสารเคมีออกจากเขตอันตรายมาสู่เขตล้างตัวผู้ป่วย
        2.ทีมล้างตัวผู้ป่วย โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องสวมชุดป้องกันสารเคมีระดับบี และต้องทำหน้าที่ล้างตัวหน่วยกู้ภัยด้วย
และ 3.ทีมหน่วยกู้ชีพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยตรง จะเป็นฝ่ายที่ปฏิบัติงานในเขตปลอดภัย ซึ่งควรใส่ชุดป้องกันสารเคมีระดับซี มีหน้าที่ ประเมินความรุนแรงของผู้บาดเจ็บเป็น 4 ระดับ คือ กลุ่ม A ผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อย กลุ่ม B ผู้ป่วยรอได้มีความเร่งด่วนน้อย กลุ่ม C ผู้ป่วยสาหัสมาก มีโอกาสรอดสูง แต่ต้องรักษาโดยด่วน และ กลุ่ม D ผู้ป่วยสาหัสมาก  นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ช่วยชีวิตหรือให้การปฐมพยาบาล และประสานกับทีมหน่วยกู้ภัยว่าสารที่ปนเปื้อนคือสารอะไร เพื่อแจ้งให้โรงพยาบาลทราบ
         ส่วนการขนส่งผู้ป่วย รถที่นำส่งผู้ป่วยจะต้องปูพลาสติกอย่างหนา กรุรอบภายใน มีที่กั้นแยกระหว่างพนักงานขับรถและพยาบาลที่ดูแลไปกับผู้ป่วย จะต้องใส่ชุดป้องกันสารเคมีระดับซี รวมทั้งก่อนรับผู้ป่วยจะต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยผ่านการชำระล้างตัวมาอย่างดีแล้ว และระหว่างการนำส่งควรแจ้งอาการและข้อมูลของสารเคมีให้โรงพยาบาลรับทราบ เพื่อจะได้เตรียมยาและความพร้อม นอกจากนี้ระหว่างการการนำส่งควรมีการปฐมพยาบาล ให้น้ำเกลือ ยาแก้ปวด หรือให้ออกซิเจนตามความจำเป็น
ขั้นสุดท้าย คือการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งควรมีทางเข้าแยกต่างหากจากทางเข้าของผู้ป่วยทั่วไป และจำกัดเฉพาะแพทย์ พยาบาล ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีโดยไม่จำเป็น และจะต้องล้างตัวผู้ป่วยอีกครั้งก่อนนำไปบำบัดต่อไป
อย่างไรก็ตามการจำแนกสารเคมีตามระบบ GHS ( Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals)  ที่ใช้กันทั่วโลก แบ่งเป็น การจำแนกประเภทสารเคมีที่อันตรายทางกายภาพ อันตรายต่อสุขภาพ และอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกสารเคมีอันตรายตามหลักสากล (INTERNATIONAL CLASSIFICATION SYSTEM) ได้ 9 ประเภท ซึ่งสามารถสังเกตได้จากฉลากหรือป้ายที่บริเวณสินค้า ได้แก่
-                   วัตถุระเบิด คือสารหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายจากการระเบิด
-                   ก๊าซ อาทิ ก๊าซไวไฟ , ก๊าซไม่ไวไฟ ไม่เป็นพิษและไม่กัดกร่อน , ก๊าซพิษ , ก๊าซกัดกร่อน
-                   ของเหลวไวไฟ
-                   ของแข็งไวไฟ คือสารที่ก่อให้เกิดการลุกไหม้ได้เองหรือสารที่สัมผัสกับน้ำแล้วก่อให้เกิดก๊าซติดไฟ
-                   สารออกซิไดส์ และสารเปอร์ออกซิไดส์อินทรีย์ คือสารทีติดไฟได้โดยการให้ออกซิเจน
-                   สารเป็นพิษและสารติดเชื้อโรค
-                   สารกัมมันตรังสี คือสารที่ให้รังสีมากกว่า 74 kBq/Kg  (กิโลบัคเคอเรล/กก.)
-                   สารกัดกร่อน คือสารที่เป็นสาเหตุในการทำลายผิวหนังหรือกัดกร่อนเหล็กหรือ อลูมิเนียมที่ไม่ได้มีการเคลือบผิว
-                   สารหรือวัตถุอื่นที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น ของเสีย สารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาวะแวดล้อม เป็นต้น
 
 
 
ด้วยความปรารถนาดี จาก
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
www.niems.go.th
 
  
          

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553
เนื้อหาและรูปที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อสื่อสาร ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
Copyright © NIEM - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) 2019

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

โทรศัพท์ 0-2872-1600 โทรสาร 028721604 Email : saraban@niems.go.th
88/40 หมู่ที่ 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
สาธารณสุขซอย 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
saraban@niems.go.th 0-2872-1600 niem1669 1669NIEM NIEMS_1669 @niem1669
ปริมาณการเข้าชม วันนี้ 2 ทั้งหมด 5249