เข้าสู่ระบบ  ขนาดตัวอักษร  ก   ก   ก  | แสดงผล  C   C   C  | EN TH | Translate

ฝนตก ถนนลื่น !! ปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจราจร

 

ฝนตก ถนนลื่น !!
 ปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจราจร

  

 

อุบัติเหตุจราจร แต่ละครั้งส่งผลให้เกิดการสูญเสียอย่างมาก ทั้งสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยจากสถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปสถิติ การเกิดอุบัติเหตุประจำปี 2552 ว่ามีทั้งสิ้น 84,806 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 10,796 คน ผู้บาดเจ็บ 61,996 คน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 3,815.52 ล้านบาท
นอกจากนี้จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รวบรวมจากการรับแจ้งเหตุทั่วประเทศ ยกเว้นเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 – สิงหาคม 2553 มีการรับแจ้งเหตุจากอุบัติเหตุจราจรทั้งสิ้น 214,173 ครั้ง ถือเป็นการแจ้งเหตุเป็นอันดับ 2 รองจากการเจ็บป่วย คือคิดเป็นร้อยละ 26.5
โดยสัดส่วนการปฏิบัติการรายภาค ภาคกลางครองแชมป์การรับแจ้งอุบัติเหตุสูงสุดคือ ร้อยละ 48.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 39.6 ภาคใต้  ร้อยละ 37.2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 15.3 เมื่อเปรียบเทียบกับการรับแจ้งจากสาเหตุอื่นๆ
ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากตัวเลขแล้ว อุบัติเหตุจราจรถือเป็นภัยที่คร่าชีวิตคนไทยต่อปีจำนวนไม่น้อย และถึงแม้การเกิดอุบัติเหตุจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด แต่หากผู้ขับขี่มีความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ก็สามารถป้องกันอันตรายได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพถนนลื่น
โดยหลักปฏิบัติหากขับรถขณะฝนตกหรือถนนลื่นควรชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงกว่าปกติ และทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น เมื่อจะต้องหยุดรถพยายามเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำเพื่อช่วยชะลอรถ อย่าเบรกโดยกระทันหัน หรือหักพวงมาลัยรถอย่างฉับพลัน เพราะอาจทำให้รถปัด หรือหมุนได้ และเมื่อขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมหรือน้ำขัง น้ำอาจเข้าไปในเบรก ทำให้เบรก ไม่อยู่ จึงควรขับอย่างช้า ๆ ด้วยเกียร์ต่ำ เมื่อผ่านมาแล้วควรลองเบรกดูว่าสามารถหยุดรถได้หรือไม่ โดยเหยียบเบรกหลาย ๆ ครั้งเพื่อไล่น้ำจนกระทั่งมั่นใจว่าเบรก ใช้การได้ตามปกติ
นอกจากนี้ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยไม่ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินที่กฎหมายกำหนด ไม่ขับรถตัดหน้าระยะกระชั้นชิด ไม่แซงรถอย่างผิดกฏหมาย ให้สัญญาณไฟเมื่อจอด ชะลอ หรือเลี้ยวรถ ไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟหรือเครื่องหมายการจราจร ตรวจสภาพรถ อุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน ไม่ดื่มของมึนเมา ไม่เสพสารเสพติด ไม่ขับรถขณะร่างกายอ่อนเพลีย  คาดเข็มขัดนิรภัยขับหรือสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากประสบอุบัติเหตุจราจรแล้ว สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
ข้อปฏิบัติเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติทางจราจร สำหรับผู้บาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ ต้องระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งหากผู้บาดเจ็บสวมหมวกกันน็อคและไม่รู้สึกตัว ไม่ควรถอดหมวกกันน็อคด้วยตนเอง ควรให้เจ้าหน้าที่กู้ชีพเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่วนผู้บาดเจ็บจากรถยนต์ หากผู้บาดเจ็บติดอยู่ภายในรถ ควรรอเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตามหากผู้บาดเจ็บติดอยู่ภายในรถยนต์โดยไม่มีการกดทับ เจ้าหน้าที่จะต้องประเมินตามสถานการณ์ ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บทั้งกับผู้ช่วยเหลือและผู้เจ็บป่วย โดยหากประเมินแล้วพบว่ามีอันตราย ให้หลีกเลี่ยงการเสี่ยงอันตรายดังกล่าว และปล่อยให้หน้าที่การช่วยเหลือเป็นของเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่กู้ภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และในส่วนของเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะเข้าไปให้การช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยก็ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นๆ สงบและไม่มีความเสี่ยงแล้วเท่านั้น 
ส่วนกรณีที่ผู้บาดเจ็บติดอยู่ภายในรถโดยมีการกดทับ คือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายถูกกดอยู่โดยวัตถุหนัก ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากยกเอาวัตถุนั้นๆ ออกมา เนื่องจากอาจจะมีการเสียเลือดอย่างรวดเร็ว หรือเกิดภาวะช็อคจากการเสียเลือด โดยการช่วยเหลือเบื้องต้นจะต้องประเมินสถานการณ์โดยอาจจะต้องใช้หน่วยช่วยเหลือเฉพาะด้านในการช่วยเหลือ และหลังจากนำสิ่งกดทับออก เจ้าหน้าที่กู้ชีพจะต้องทำการปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุ และเฝ้าดูคลื่นหัวใจ จากนั้นนำส่งต่อยังโรงพยาบาล
ทั้งนี้ถ้ากรณีผู้บาดเจ็บมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ต้องให้เจ้าหน้าที่กู้ชีพเป็นผู้ดูแลรักษา หากมีเลือดออกควรห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาดหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสม ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าควรหลีกเลี่ยงการยกหรือเคลื่อนย้ายโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำอันตรายต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้ และที่สำคัญควรขอความช่วยเหลือจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร 1669
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุทางจราจร คือต้องถือคติ “ปลอดภัยไว้ก่อน”
 
 
 

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553
เนื้อหาและรูปที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อสื่อสาร ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
Copyright © NIEM - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) 2019

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)

โทรศัพท์ 0-2872-1600 โทรสาร 028721604 Email : saraban@niems.go.th
88/40 หมู่ที่ 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา
สาธารณสุขซอย 6 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
saraban@niems.go.th 0-2872-1600 niem1669 1669NIEM NIEMS_1669 @niem1669
ปริมาณการเข้าชม วันนี้ 3 ทั้งหมด 1222