ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ.ร่วมกับ อปท. จัดประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ

สพฉ.ร่วมกับ อปท. จัดประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ตั้งเป้าให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมใหม่ๆ “วิษณุ” ระบุระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชนประชาชน และอปท. ด้าน “อนุชา”เผยเสนอเรื่องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นของตนเองได้ 

 


    ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลล์รูม โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติครั้งที่ 2 ขึ้น  ภายใต้หัวข้อ “พลังท้องถิ่นไทย สู่เส้นทางการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินอย่างยั่งยืน” โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดการประชุม 

     นายวิษณุ กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งสามฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายประชาชนหรือภาคเอกชน และฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาถือได้ว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินดีขึ้นกว่าในอดีตมากเพราะถึงแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณแต่ทุกฝ่ายก็ยังร่วมมือกัน ใช้สติปัญญา และใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อให้งานด้านการแพทย์ฉุกเฉินดำเนินต่อไปได้ สมัยก่อนเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินเป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว ซึ่งรัฐเองก็ทำได้ไม่เต็มที่และอาจจะทำไม่ได้ด้วย ต่อมาก็มีมูลนิธิและภาคเอกชนเข้ามาช่วยก็ทำให้เสริมสิ่งที่รัฐทำให้ดีขึ้น และยิ่งพอท้องถิ่นเข้ามาช่วยอีกแรงระบบการจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉินก็จะลงไปถึงรากหญ้าลงไปถึงประชาชน 

    รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปเพื่อที่จะช่วยคนได้หมดทุกคน โดยเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นการทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างชัดเจนคือเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันนี้  ซึ่งตรงนั้นตนถือว่าเป็นการทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่สมบูรณ์แบบแล้วและจะทำดีกว่านั้นก็ไม่ได้แล้วเพราะเจ้าหน้าที่เองก็ต้องระวังอันตรายของคนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วย  อย่างไรก็ตามตนมีข้อแนะนำในเรื่องของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นเพิ่มเติมด้วยว่า สิ่งที่ท้องถิ่นกำลังคิดในเรื่องของการขยายและกระจายระบบการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้นคือเรื่องที่ถูกต้องซึ่งตนเองก็อยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรถพยาบาลรถกู้ชีพฉุกเฉิน มีศูนย์กู้ชีพ มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน มีการจัดหาแพทย์อาสาสมัคร พยาบาล ยา เตียง เพื่อมารองรับกับประชาชนในท้องถิ่นที่จะเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ซึ่งท้องถิ่นใช้เงินตัวเองไม่ได้ก็ต้องอาศัยเงินจากการบริจาคเพื่อเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้ได้เหมือนกัน 

    “แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากฝากไว้อีกเรื่องก็คือไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีการจัดซื้อจัดจ้างจัดหา ผมอยากขอฝากไว้คือเรื่องข้อครหาทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง เราต้องระวังเพราะถ้ามีตัวนี้เกิดขึ้นงานนี้จะพังพินาศ คนจะไม่เชื่อถือเชื่อมั่นและไม่ร่วมมืออะไรกับเราอีกเลย ซึ่งวันนี้เรื่องทุจริตเรายังไม่พบในเรื่องของการแพทย์ฉุกเฉินแต่ไปพบในเรื่องจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องอื่น”นายวิษณุกล่าว 

    ด้านนพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า  การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีเป้าหมายเพื่อจัดการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบริการที่รวดเร็วและปลอดภัยจนพ้นภาวะฉุกเฉินหรือได้รับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนปัจจุบันเรามีภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนภาคท้องถิ่น และองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยระบบการแพทย์ฉุกเฉินของเราได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเรามีชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 12,000 ชุด และเรายังมีการพัฒนาชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติหรือทีมเมิร์ทกว่า 45 ทีม ซึ่งกำลังจะเพิ่มให้ครบทุกจังหวัดในปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ที่ผ่านมา สพฉ. ได้ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอเรื่องผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อนำไปสู่การพิจารณาของรัฐบาลในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับท้องถิ่น โดยเห็นควรว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้  1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เช่น โรงเรียน โรงงาน ภาคเอกชนต่างๆ   มีความรู้เรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน  พร้อมช่วยปฐมพยาบาล  แจ้งเหตุ หรือพร้อมช่วยเหลือฟื้นคืนชีพเบื้องต้น 

      2. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ โดยจะต้องมีโครงสร้าง หน้าที่ และภาระงานในการจัดตั้งหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เพิ่มความครอบคลุมในการให้บริการ และทำให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่รวดเร็ว ทันท่วงที รวมถึงจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากท้องถิ่นเข้าใจพื้นที่และปัญหาเป็นอย่างดี 

                    ขณะที่นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลากล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมครั้งนี้ร่วมกับสพฉ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉินของอปท.ให้สามารถดำเนินงานและพัฒนาระบบการบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติการ ผู้บริหาร และภาคีเครือข่ายเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้พร้อมสู่ระดับนานาชาติด้วย และสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการที่มีผลงานดีเด่น ซึ่งจะเป็นแบบอย่างสำหรับผู้ปฏิบัติการและหน่วยปฏิบัติการอื่นๆ อีกต่อไป 
 



    สำหรับการจัดงานในครั้งนี้นั้นได้มีผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินและภาคีเครือข่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประชุมกว่าสองพันคนด้วยและยังได้มีการแสดงผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินของอปท.ที่น่าสนใจอีกด้วย

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000052
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001