ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สธ.เตรียมรับมืออุบัติเหตุวันหยุดยาว สั่งทุกจังหวัดหาจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่อย่างน้อย 5 จุดต่อจังหวัด

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนาย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ., นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์, นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าว "อุบัติเหตุป้องกันได้" เพื่อบูรณาการการทำงานในการป้องกันลดการบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งไทยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 22,000 ราย อัตราเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก 

 


นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุจราจร กำหนดให้เป็นวาระกระทรวงสาธารณสุข และปรับแผนรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจราจรจากทุกเทศกาล เป็นการรณรงค์ตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตกว่า 22,000 รายต่อปี บาดเจ็บต้องเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยนอกปีละกว่า 1 ล้านราย บาดเจ็บรุนแรงต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลอีกกว่าแสนราย และในจำนวนนี้ยังทำให้เกิดความพิการอีกประมาณร้อยละ 4.6 ของผู้ที่บาดเจ็บรุนแรงต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น ได้ให้ทุกจังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา หาจุดเสี่ยง จุดอันตรายในพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 5 จุด นำเสนอต่อศูนย์ความปลอดภัยทางถนนและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันในพื้นที่ เช่น การเพิ่มไฟส่องสว่างในถนนที่มืด ติดไฟเตือนบริเวณทางร่วมทางแยก การปิดจุดกลับรถ เป็นต้น โดยจะประเมินผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลจะเสนอให้หน่วยงานในพื้นที่ เพิ่มมาตรการด่านชุมชนในกว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศ สกัดกั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งเมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น ออกสู่ถนนใหญ่พบว่าการมีด่านชุมชนจะช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก 

โดยใช้กลยุทธ์ 5 ส.ในการทำงาน ได้แก่ 1.สารสนเทศ โดยบูรณาการข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากระบบเฝ้าระวังของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ และบริษัทกลาง รวมทั้งข้อมูลจากการสวบสวนโรคเชิงลึกจากทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว นำมาวิเคราะห์ให้ทราบสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง 2.สุด เสี่ยง โดยชี้จุดเสี่ยง จุดอันตรายที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา 3.สหวิชาชีพ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกวิชาชีพ 4.สุดคุ้ม ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา และ 5.ส่วนร่วม ดำเนินงานโดยประชาชน ชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ต้องให้ความร่วมมือมองเห็นปัญหาร่วมกันจึงจะประสบความสำเร็จในการทำงาน 

ด้าน นพ.โสภณกล่าวว่า ในการดำเนินงานลดการบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการทางอุบัติเหตุจราจร สธ.ได้วางแผน 4 ด้าน ดังนี้ 1.ระบบข้อมูล ที่บูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเสนอต่อศูนย์ความปลอดภัยทางถนน 2.การป้องกัน ทั้งการแก้ไขจุดเสี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ สวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งมาตรการองค์กร และด่านชุมชน 3.การรักษาพยาบาล เพิ่มคุณภาพห้องฉุกเฉิน เปิดช่องทางด่วนรองรับผู้บาดเจ็บ เพิ่มคุณภาพงานการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุให้ได้มาตรฐานระดับสากล ทั้งบุคลากร รถพยาบาล อุปกรณ์กู้ชีพ และสายด่วน 1669 4.การบริหารจัดการ เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับกระทรวง และระบบบัญชาการในภาวะฉุกเฉินระดับเขต/จังหวัด ตั้งศูนย์จัดการการบาดเจ็บและฉุกเฉิน (Emergency & Trauma Admin Unit) ในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ กำหนดผู้ประสานงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ทำงานร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ 

ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ปี 2558 ที่ตั้งด่านชุมชน 206 ด่าน สกัดกั้นไม่ให้ผู้ขับขี่ที่ดื่มสุราขับรถออกสู่ถนนใหญ่ และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่สวมหมวก และขับรถเร็ว ทำให้ลดการเสียชีวิต ลดการบาดเจ็บได้ร้อยละ 82 ลดผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 77 โดยใช้ข้อมูลชี้เป้าของ สธ.ต่อไป. 

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000050
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001