ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ.จัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ "เคลื่อนวงล้อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย”

สพฉ.จัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่  10 ภายใต้หัวข้อ  "เคลื่อนวงล้อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย” ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน 2559  ผู้ช่วยรมว.สธ. ย้ำระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยสามารถช่วยเหลือประชาชนได้แม้ในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ เร่งให้ความรู้ประชาชนทั่วไปเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน  ขณะที่เลขาธิการ สพฉ.  พร้อมพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้นและพร้อมดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

  

วันนี้ (30 มี.ค.)  ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ.  2559  ภายใต้หัวข้อ “"เคลื่อนวงล้อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย”    โดยการจัดงานในครั้งนี้นั้น ได้รับเกียรติจาก นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานในพิธีพร้อมกล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมของภาคีเครือข่ายและบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จากทั่วประเทศ ที่ทำการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ ทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ ตั้งแต่ได้รับแจ้งเหตุ  การออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือบำบัดรักษาทั้งนอกและในสถานพยาบาล จนพ้นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงจับมือกันช่วยชีวิตผู้คนจนรอดตาย รอดจากความพิการ โดยใช้เวทีวิชาการ การจัดนิทรรศการ Work Shop และแสดงผลงานวิชาการ เป็นตัวเชื่อมโยงให้มาพบปะกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อกลับไปขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินในส่วนที่ทำอยู่

การประชุมวิชาการระดับชาติที่จัดต่อเนื่องมาถึง10 ครั้ง สะท้อนถึงความต่อเนื่องยั่งยืนของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย สะท้อนถึงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จับมือเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึง ความอุ่นใจของพี่น้องประชาชนชาวไทย   เมื่อยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ ที่คาดหวังเสมอว่าระบบที่มีอยู่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน  

อย่างไรก็ตามในส่วนของประชาชนทุกคนนั้น อยากให้ทุกคนได้เรียนรู้หลักการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)  อยากให้ทุกคนเรียนรู้เรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานที่ถูกต้องเพราะกว่าเจ้าหน้าที่จะไปถึงเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน8 นาทีนั้น หากเรารู้วิธีในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปถึงก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินได้ นอกจากนี้สิ่งที่เราจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมคือการป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉินก่อนเกิดเหตุ โดยการร่วมแรงร่วมใจกับหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันดำเนินการให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดสถิติการบาดเจ็บและการป่วยฉุกเฉินของประชาชนให้ลดลงให้ได้มากที่สุด 

 

ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติกล่าวว่า การประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ถือเป็นช่องทางสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนา และกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินได้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และนำองค์ความรู้ใหม่ๆ เผยแพร่สู่เวทีสาธารณะ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้และเฝ้าระวังในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับการยกย่องเชิดชูและประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและบุคคลที่ประกอบคุณงามความดีหรือมีผลงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน พยายามผลักดันให้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในทุกจังหวัดของประเทศไทย มีความครอบคลุม ความคล่องแคล่ว มีคุณภาพ ครบพร้อมตอบสนองภัยคุกคามตลอด 24 ชั่วโมง และคุ้มครองผู้รับบริการและผู้ให้บริการให้มีความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงการมุ่งเน้นหาช่องว่างหรือโอกาสของการพัฒนางานการแพทย์ฉุกเฉินในแต่ละพื้นที่อีกด้วย  

 

ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.สันต์  หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อปฎิรูปคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยทำดีมีแต่ได้ว่า ในช่วงทุกเทศกาลที่ผ่านมาของไทยประชาชนที่ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินร้อยละ 50-60 จะเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ  โดยในปีพ.ศ. 2556 มีประชาชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ  60 และเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินมากถึงร้อยละ 26 ซึ่งจากสถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ระบบห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลยังต้องปฏิรูปอย่างมากเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตในห้องฉุกเฉินน้อยลง ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตทันทีจากการบาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ จะแก้ได้ด้วยการป้องกันเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสำหรับการจัดงานในครั้งนี้นั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการ ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินและสาขาที่เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน  1,800 คน  โดยเริ่มประชุมตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2559 โดยรูปแบบการประชุมมีทั้งการปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การเสวนา การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการทางการแพทย์ และการมอบโล่รางวัลและเข็มเชิดชูเกียรติแก่ผู้ปฏิบัติงาน

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000036
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001