ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ. จับมือ JICA จัดประชุมความร่วมมือ 10 ชาติอาเซียนเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทางการแพทย์ และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ

สพฉจับมือ JICA  จัดประชุมความร่วมมือ10 ชาติอาเซียนเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทางการแพทย์ และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ เตรียมรับมือเหตุในอนาคต เร่ง พัฒนาคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้ง ภูมิภาค   

 
  

ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก แกรนด์ สุขุมวิท สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)  จัดประชุมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคในโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติของภูมิภาคอาเซียน(The Project for Strengthening the ASEAN Regional Capacity on Disaster Health Management : Project ) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการบริหารจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุข และพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้แก่ประเทศต่างๆในอาเซียน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่าในระหว่างปีพ.ศ. 2541 – 2554   ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้คร่าชีวิตประชากรในภูมิภาคอาเซียนไปกว่า 250,000 ราย โดยคิดเป็นความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากถึงร้อยละ 61.6 ของความเสียหายจากภัยพิบัติทั่วโลก  และเพื่อให้มีการแก้ไขและป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมกลุ่มผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจึงได้สร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติร่วมกันภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และปฏิญญาอาเซียน เรื่อง การพัฒนาความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ  โดยรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีพันธะสัญญาต่อกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการขยายความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ  ได้มอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA)ประสานงานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติให้แก่ประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน 

 

นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า โดยที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ)ร่วมมือกับ JICA จัดกิจกรรมหลากหลาย รูปแบบเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่นการทำโครงการสำรวจประเมินระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ ของอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติของแต่ละประเทศ รวมทั้งสำรวจ ความต้องการและโอกาสพัฒนาของแต่ละประเทศเพื่อนำมาวางแผนการพัฒนาการเตรียมการ รับมือภัยพิบัติ โดยทีมแพทย์ของไทยได้เดินทางไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติของทุกประเทศในอาเซียนด้วย นอกจากนั้นเรายังมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเป็นตัวแทนของภูมิภาคอาเซียน เสนอยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ทุกประเทศ ในภูมิภาคเซียนในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทีเมืองดาลัดเวียดนาม ซึ่งทุกประเทศได้ให้ความเห็นชอบในกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้วด้วย

 

ด้านนพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า กล่าวว่า การประชุมร่วมกันครั้งนี้ต่อเนื่องจากที่สพฉ.และJICAได้ลงเอ็มโอยูร่วมกันในโครงการดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการประชุมเพื่อมีมติร่วมกันระหว่างเพื่อนสมาชิกทั้ง 10 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย บูรไน และไทย ในการดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุขของภูมิภาค การจัดทำฐานข้อมูลของทีมช่วยเหลือ ทางการแพทย์ (DMAT)ของประเทศสมาชิกพร้อมทั้งสร้างโครงข่ายระบบประเมิน ความต้องการทางการแพทย์และ สาธารณสุข ในภาวะภัยพิบัติจากพื้นที่ประสบภัย การจัดฝึกซ้อมแผนภัยพิบัติ และการจัดฝึกอบรมด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ ให้แก่ประเทศสมาชิก นอกจากนี้จะมีการประชุมร่วม10ชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น อย่างน้อยปีละครั้งพร้อมทั้งฝึกซ้อมแผนภัยพิบัติร่วมกัน

นพ.ภูมินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเป้าหมายโครงการครั้งนี้ คือ1. การทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างระบบประสานงานเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ระหว่างกันและกัน2.มีแนวทางปฏิบัติว่าถ้ามีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้นในประเทศหนึ่งจะสามารถขอความช่วยเหลือไปที่ไหนได้บ้าง และจะกระจายข้อมูลไปยังประเทศต่างๆในอาเซียนได้อย่างไร 3.อยากเห็นทุกทีมมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งบุคลากร เครื่องมือ ขั้นตอนต่างๆให้มีคุณภาพเช่นเดียวกัน 4.การสร้างเครือข่ายทางวิชาการด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ ในภาวะภัยพิบัติ  ที่มีประโยชน์ในการพัฒนาระบบ หาองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากนักวิชาการทั้ง 10 ประเทศ และ5.จัดอบรมให้ประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการแพทย์ฉุกเฉินของแต่ละประเทศ

“สพฉ.ทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างประเทศมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่การจะพัฒนาโครงการนี้ให้สำเร็จต่อไปเป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือ จากหลายภาคส่วนในประเทศ เช่นกระทรวงสาธารณสุข รพ.ต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน สภากาชาดไทย ตลอดจนภาคส่วนวิชาการ ที่มีสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินและสถาบันการศึกษาอบรมต่างๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศ และจัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ และสร้างความเป็นผู้นำของประเทศไทย นอกจากนั้นจากความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นผ่านโครงการนี้ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในประเทศกับหน่วยงานในต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและในกรณีสาธารณภัย ของประเทศไทยในอนาคต” รองเลขาธิการสพฉ.กล่าว

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000021
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001