ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
เลขา สพฉ. ชูหลัก “ NIEMS” เดินหน้ายกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา ประกาศ 10ทิศทางการดำเนินงาน หลังรับตำแหน่งเลขาธิการสพฉ. ชูหลัก “ NIEMS” เดินหน้ายกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ลดอัตราบาดเจ็บ-เสียชีวิต  เน้น ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพิ่มกลุ่มเปราะบาง-พื้นที่พิเศษ ยึด หลักบริหารกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินให้โปร่งใส เล็ง ติดตั้ง จีพีเอส รถฉุกเฉิน ที่ผ่านการรับรองทุกคัน พร้อมเสนอ สถานพยาบาลเอกชน รับ ผู้ป่วยฉุกเฉินดูแล แก้ปัญหาคนล้นเตียงในโรงพยาบาลรัฐ

 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งถึง

ทิศทางการทำงานต่อการแพทย์ฉุกเฉินของไทย ที่จะเกิดขึ้นภายใน 4 ปีข้างหน้า ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินของไทยมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉิน 12 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวิกฤตถึง4 ล้านคน ขณะที่การเข้าถึงการบริการนั้น สถิติไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการบริการเพิ่มขึ้น แต่ยังไปไม่ถึงจุดที่ต้องการ ทั้งนี้ในปี 2556 -2558พบว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงการบริการ 1.3ล้านคน แต่มีผู้ป่วยวิกฤตเพียง 4 แสนคน คิดเป็น 10เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ดังนั้นอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือยังต้องการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้ามาให้บริการ

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตาม 13 เขตสุขภาพรวมเขต กทม.ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้ป่วยฉุกเฉิน ในระดับวิกฤตมี 10-20เปอร์เซ็นต์ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่เพิ่มระดับการได้รับบริการ ขณะที่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ในระดับเร่งด่วน ได้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ข้อมูลการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน 1669  สัดส่วน 30เปอร์เซ็นต์ สาเหตุมาจากอุบัติเหตุ โดยมาจากยานยนต์สูงสุด  ขณะที่อีก 70เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่อุบัติเหตุ 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า สำหรับการแพทย์ฉุกเฉินไทยสู่อนาคตในปี 2563ยึดนโยบาย “NIEMS” โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ลดอัตราการเจ็บป่วย  ทุพพลภาพ และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง โดยควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ นั่นหมายความว่า คนไทย เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นหากทำให้ลดอัตราการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิตลงได้ จะทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรบุคคลที่จะพัฒนาประเทศ ให้เจริญรุ่งเรือง

“NIEMSคืออะไร 

“N” คือ National  EMS Policy maker องค์กรแห่งชาติที่ให้นโยบายNational  EMS Regulator ควบควบคุมกำกับ และ National  EMS Facilitator  ช่วยสนับสนุนส่งเสริมองค์กรอื่นในการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน  

“I” คือ   International Collaborating Instituteและ International Recognition  หมายความว่า สพฉ.จะเป็นองค์กรเพื่อการรวมตัวกัน หรือ ประสานความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ โดยพุ่งเป้าไปว่าไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ขณะที่ตัว 

“E” คือ Emergency medical care and disaster   response  coordination and Learning Center  คือสพฉ.จะเป็นองค์กรสนับสนุน อุดหนุนในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติ และภาวะภัยพิบัติ และตัว 

“M”  มาจาก Medical direction system promoter คือ การอำนวยการทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของรับการแพทย์ฉุกเฉิน สุดท้ายคือตัว 

“S” คือSafety -Standard of service and Satisfactio  ซึ่งสพฉ.จะเป็นองค์กรในการพัฒนาความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน และผู้ป่วย รวมไปถึงมาตรฐานการให้บริการ และความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานเกิดความสุขในการทำงานเพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพเลขาธิการสพฉ.กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ระบุว่า ในปี 2558 การรับแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านหมายเลข 1669ในระดับเครือข่ายบริการสุขภาพ ในบางเขตยังมีอัตราที่น้อยอยู่ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ สพฉ.ที่ต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงภาวะฉุกเฉิน และ การแจ้งเหตุฉุกเฉิน สิ่งสำคัญคือว่า ภาวะฉุกเฉินของประชาชนกับของแพทย์จะไม่ตรงกัน โดยการให้ความรู้กับประชาชนในส่วนนี้ทำได้โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ เช่น การใช้ห่วงโซ่การรอดชีวิต ตั้งแต่เริ่มรับรู้ แจ้งเหตุฉุกเฉิน การปั้มหัวใจในกรณีจำเป็น และการช็อตด้วยเครื่องการฟื้นคืนคลื่นหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ กึ่งอัตโนมัติของภาคประชาชน และมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินเข้ามารับ ณ จุดเกิดเหตุ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนจะต้องรับทราบ ผ่านเครือข่ายต่างๆ เช่น เครือข่ายอาสาชุมชนต่างๆ

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า  การเข้าถึงการบริการฉุกเฉิน สพฉ. จะส่งเสริมและพัฒนาให้มีระบบการรับแจ้งที่ตอบสนองต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยรับแจ้งและประสาน และ สนับสนุนให้สถานพยาบาลเป็นหน่วยอำนวยการทางการแพทย์ฉุกเฉิน จากเดิมที่เมื่อโทร 1669หน่วยที่รับแจ้งคือหน่วยที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข และประสานต่อ รวมไปถึงการดำเนินการให้มีการแจ้งเหตุในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เช่น พื้นที่ทะเล ซึ่งในอดีตจะมีเฉพาะพื้นที่ทางบกเท่านั้น โดยอาจจะประสานกับกองทัพเรือในการขอความร่วมมือ ส่วนการปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศ ที่ลำเลียงผ่านเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบิน ที่ผ่านมาริเริ่มใน 8จังหวัดภาคเหนือ ตามแนวชายแดนภาคตะวันตกมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนย้ายระหว่างโรงพยาบาล แต่อนาคตจะพัฒนาให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศไปรับยังจุดเกิดเหตุ รวมไปถึงการขยายขอบเขตการให้บริการไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า การให้บริการผู้ป่วยในสถานพยาบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ เพราะมีระดับการให้บริการที่แตกต่างกัน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการจัดระดับอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการพัฒนาในเรื่องนี้ ว่าโรงพยาบาลใดสามารถรับคนไข้ประเภทไหนอย่างไรบ้าง เช่น โรคสมอง โรคหัวใจ ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการส่งต่อผู้ป่วย โดยในอนาคตจะมีการจัด Emergency Center เพื่อที่จะลดการแออัดคับคั่งของผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานพยาบาลภาครัฐ

เน้นการคัดแยกและดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โดยผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าถึงบริการนอกเครือข่ายบริการของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลเอกชนได้ เมื่อเกิดวิกฤตฉุกเฉินขึ้น โดยไม่ต้องเสียเงินก่อน

มีอีกมุมมองหนึ่ง คือ การทำ Reverse EMCO คือกรณีที่ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลภาครัฐแล้ว และสถานพยาบาลของรัฐอาจจะเต็ม ขีดความสามารถไม่ว่าจะเป็น เตียงเต็ม ทรัพยากรต่างๆ อาจจะต้องอาศัยกลไก ความร่วมมือจากสถานพยาบาลเอกชน ในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินออกไปดูแล ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างสถานพยาบาลเอกชนกับกองทุนต่างๆของภาครัฐนพ.อัจฉริยะกล่าว

เลขาธิการสพฉ. ระบุว่า อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องรีบขับเคลื่อน คือการประกาศให้มีอำนาจหน้าที่ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน และมีกระบวนการที่จะรับรองมาตรฐานหน่วย โดยจะผลักดันให้เกิด TEMSA  (Thailand EMS Accreditation) ขึ้นเพื่อเป็นโมเดลให้ประเทศไทยมีองค์กร หรือ มีการตรวจรับรองมาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรม โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การตรวจรับรองรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินมุ่งสู่การรับรองหน่วยปฏิบัติการ ในอนาคตอาจจะขยายผลไปยังประเภทอื่น เช่น รถพยาบาล หรือ รถกู้ภัย เพื่อให้เกิดความคุ้มครองประชาชน โดยตั้งเป้าว่าในอนาคตจะมีโมเดลในการติดจีพีเอสในรถ เพื่อให้รู้ว่ารถอยู่ไหน ประเมินได้ว่า รถนั้นจะเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้ภายในกี่นาที

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ  กล่าวถึงการจัดการในกรณีทีเกิดสาธารณภัย ว่า  สพฉ.จะสนับสนุน เช่น การฝึกต่างๆ การสื่อสาร ในเรื่องของการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน  ภายใต้หลัก 4 C + 4 T หรือ  Command   Control Communication และ Coordination  และ4T คือTriage  Treatment Transport  และ Transfer ซึ่งอยากขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น โดยในเรื่องของการปฏิบัติการอำนวยการต้องมีแพทย์อำนวยการ มีผู้ช่วยอำนวยการ  เรื่องการปฏิบัติการแพทย์ ต้องมีแพทย์ หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพ หรือ ผู้ช่วยเวชกรรม และในภาคประชาชนเองจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปฐมพยาบาล โดยในอดีตสามส่วนนี้ยังไม่ได้เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน จึงอยากให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองในขั้นตอนได้ระดับหนึ่ง ก่อนที่จะแจ้งหน่วยปฏิบัติการต่อไป

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า จะนำเอาข้อมูลผู้ป่วยฉุกเฉินในอดีตนำมาวิเคราะห์ ตรงไหนเคยเกิดเหตุอะไร เช่น ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีที่ไหนบ้าง และการตอบสนองของผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่นั้นได้รับการตอบสนองที่ทันท่วงทีหรือไม่ ถ้าอยู่ไกล ก็จะเพิ่มหน่วยเข้าไป ส่วนการพัฒนาบุคลากรที่ต้องเร่งภายใน 4 ปี คือ  ส่งเสริมการผลิต นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ นฉพ. (Paramedic) เพราะเป้าหมายคือการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้มากขึ้น โดยขอเสนอให้ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก สธ. และสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รวมถึงหน่วยงานอื่นมีส่วนร่วม อีกทั้ง ส่งเสริมการพัฒนาพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ENP ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านฉุกเฉินสำหรับแพทย์ใหม่Intern/ GP  ที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน ร่วมกับ วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย(วฉท.)ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น พร้อมกับ ส่งเสริมการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่เมือง ชนบท หรือพื้นที่ขาดแคลน หรือ โรคเฉพาะด้าน เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ทุรกันดารและมีความเสี่ยงอันตราย

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า พันธะสัญญาต่อการเป็นเลขาธิการ สพฉ. ของตน มีด้วยกัน 10ประการ คือ 

1. ประเทศไทยมีกลไกในการกำกับระบบการปฏิบัติการฉุกเฉินและสร้างการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนอย่างชัดเจนทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นและภาคประชาชน  

2. หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ มีการติดตั้ง GPS ในรถฉุกเฉินที่ได้รับการรับรองทุกคัน 

3.ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินมีมาตรฐานสู่การเป็นวิชาชีพ และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน  

4.มีระบบข้อมูลที่ทันสมัย นำไปสู่การปฏิบัติการฉุกเฉินที่ทันท่วงทีและมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม  

5. อัตราการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่างๆและในพื้นที่พิเศษ

6. ผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานพยาบาลมีหลักประกันด้านสุขภาพรองรับชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

7.ผู้ป่วยฉุกเฉินมีอัตราการบาดเจ็บ ทุพลภาพและเสียชีวิตลดลง 

8. ระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

9. บริหารจัดการกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพคุ้มค่า 

10. ผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีความปลอดภัยและมีความสุขในการทำงาน

ในภาระงานที่จะดำเนินการ ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องเหล่านี้ ส่วนจะทำสำเร็จได้ช้า หรือเร็ว นั้นขึ้นอยู่กับ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงความร่วมมือจากภาคประชาชน ที่มีความสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาไปด้วยกันเลขาธิการสพฉ.กล่าว

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000211
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001