ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
แห่ชมเจ้าหน้าที่ กกท. ช่วยฟื้นคืนชีพนักวิ่ง 70 ปี หยุดหายใจคาสนามวิ่ง

โซเชียลแห่ชมเจ้าหน้าที่ กกท. ช่วยฟื้นคืนชีพนักวิ่ง 70 ปี หยุดหายใจคาสนามวิ่ง ก่อนส่งรพ.อย่างปลอดภัย  เลขาฯสพฉ. แนะ 8ขั้นตอน ช่วยฟื้นคืนชีพ

กรณีที่โลกโซเชียลเผยแพร่คลิปวีดีโอ เจ้าหน้าที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทำการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR )ให้กับนักวิ่งอายุ 70 ปี ที่หัวใจหยุดเต้น ระหว่างการออกกำลังกายที่สนามกกท.หัวหมาก จนทำให้ชีพจรกลับมาเต้นอีกครั้งและนำส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัยนั้น 

 

นายธนศาล  แก้วกังวาล ผู้ช่วยปฏิบัติงาน การกีฬาแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่หนึ่งผู้ร่วมช่วยชีวิตนักวิ่งคนดังกล่าว เปิดเผยว่า วันเกิดเหตุ ไปส่งเอกสาร และ ไปทำธุรกรรมที่ธนาคารในบริเวณใกล้เคียงกับสนามกีฬา  ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วิ่งมาบอกให้ตนไปช่วยชายสูงวัยที่หมดสติ และไม่หายใจ ที่สนามกีฬา เมื่อไปถึงพบว่ามีนักวิ่งอีกหนึ่งคนกำลังทำการ CPR อยู่ ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบอาการผู้ป่วยพบว่าหมดสติและไม่หายใจจึงได้ช่วยทำCPR  พร้อมตะโกนบอกให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที และให้ไปนำเครื่อง เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ซึ่งกกท. มีติดตั้งไว้ 5 จุด มายังที่เกิดเหตุ ต่อมาทีมแพทย์และพยาบาลของกกท. ได้มาสมทบและดำเนินการช่วยเหลือ จนในที่สุดผู้ป่วยกลับมามีชีพจร มีสติ และสามารถพูดคุยได้ ก่อนที่รถฉุกเฉินจากโรงพยาบาลปิยะเวทจะนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย 

รู้สึกดีใจ และภาคภูมิใจมากที่ได้ช่วยชีวิตคน ส่วนตัวเคยผ่านการอบรมปฐมพยาบาลหลายครั้ง โดยมีการสอนให้ทำ CPR ให้ จึงมั่นใจในการช่วยเหลือ ที่สำคัญเมื่อรู้ว่ามีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ต้องตั้งสติ ให้ดี แล้วทำตามขั้นตอนที่ได้รับการอบรมมา” นายธนศาลกล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงขั้นตอนในการทำ CPRว่า มีหลักการ 8 ขั้นตอนดังนี้ 1.เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเช้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ  2.ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง  หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป 3.โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน1669 พร้อมร้องขอเครื่อง AED ที่อยู่ใกล้ 4.ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว  ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที 5.ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างของกึ่งกลางกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120ครั้งต่อนาที  6.เมื่อเครื่องAEDมาถึง ให้เปิดเครื่อง และเปิดเสื้อผู้ป่วยออก และทำตามที่เครื่อง AEDแนะนำ 7.ติดแผ่นนำไฟฟ้าบนตัวผู้ป่วยตามรูป และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย 8.ปฏิบัติตามที่เครื่อง AED แนะนำ จนกว่าทีมกู้ชีพ จะมาถึง และ ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอด และปลอดภัย

                “หากผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธี คือการช่วยเหลือโดยการ CPR ภายใน 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้เลขาธิการสพฉ.กล่าว

 

คู่มือการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ  http://www.niems.go.th/th/DownloadFile.aspx?CateType=DataService&ContentId=25591220021934962 

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000038
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001