ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ.ส่งทีมลงพื้นที่สกลนครเพื่อประสานการช่วยเหลือทางการแพทย์ให้กับประชาชนให้ตรงจุด

 

สพฉ.ส่งทีมลงพื้นที่สกลนครเพื่อประสานการช่วยเหลือทางการแพทย์ให้กับประชาชนให้ตรงจุด และจัดตั้งวอร์รูมประเมินสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเต็มที่ พร้อมเพิ่มคู่สายการทำงานของสายด่วน 1669 ให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เผยสถิติให้บริการวันนี้ไปแล้วกว่า 70 ครั้ง  แนะผู้ป่วยเรื้อรังต้องจัดยาไว้ใกล้ตัวเองให้พร้อมทานได้ตลอดเวลา เตือนประชาชนให้คอยฟังประกาศเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 


 
 
เรืออากาศเอก นพ. อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวถึงการเตรียมการของสพฉ.เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดสกลนครในขณะนี้ว่า สพฉ.ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดซึ่งเราได้ประสานเจ้าหน้าที่ในเครือข่ายกู้ชีพให้ลงไปสนับสนุนการช่วยเหลือในพื้นที่แล้วโดยขณะนี้ได้มีเครือข่ายกู้ชีพกู้ภัยจากจังหวัดใกล้เคียงได้ลงไปสนับสนุนการช่วยเหลือเป็นจำนวนมากแล้ว   นอกจากนี้เรายังได้มีการตรวจสอบและจัดระบบโทรศัพท์เพื่อเพิ่มช่องทางคู่สายของศูนย์สื่อสารสั่งการ 1669 จังหวัดสกลนครให้พร้อมรองรับการขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่มากขึ้นด้วยโดยวันนี้เราได้ให้บริการประชาชนผ่านสายด่วน 1669 ไปแล้วกว่า 70 ครั้ง   และในส่วนของภาพใหญ่เราได้จัดตั้งศูนย์เพื่อประสานและสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการช่วยเหลือประชาชนและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้อย่างเต็มที่และเปิดศูนย์ประสานการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติขึ้นมาเองอีกหนึ่งช่องทางเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย 



“ ในส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่เราได้จัดส่งทีม ERAT ลงไปในพื้นที่จังหวัดสกลนครเพื่อเก็บข้อมูลและคอยช่วยประสานการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบและเพื่อช่วยในการจัดระบบการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้ตรงจุดได้ และหากการสื่อสารในทุกช่องทางมีปัญหาเราก็ได้จัดส่งรถสื่อสารเฉพาะกิจซึ่งเป็นรถหกล้อที่จะสามารถใช้ติดต่อสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติได้ไปในพื้นที่แล้ว ซึ่งขณะนี้รถสื่อสารเฉพาะกิจได้เดินทางไปถึงจังหวัดนครราชสีมาแล้วด้วย”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว 


ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมด้วยว่า หากต้องอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลัน และอยู่ในพื้นที่ที่เกิดพายุ ประชาชนจะต้องคอยฟังประกาศเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อระวังภัยโดยการตรึงประตู หน้าต่าง ให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรขณะฝนตกฟ้าคะนอง และขณะฝนตกฟ้าคะนอง ห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟ และห้ามโทรศัพท์เด็ดขาด หากรู้สึกว่าบ้านกำลังจะพังให้ ห่อตัวเองด้วยผ้าห่ม หลบใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือที่แข็งแรงมั่นคง  ส่วนการป้องกันเหตุน้ำป่าน้ำท่วมฉับพลันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง ควรสวมเสื้อชูชีพ โดยหลีกเลี่ยงการเดินผ่านแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ  ห้ามเดินฝ่ากระแสน้ำเด็ดขาด  ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเดินควร ใช้ไม้ปักดินคลำทาง เพื่อสังเกตว่าดินตื้นลึกแค่ไหน  และห้ามขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม แต่หากเกิดน้ำท่วมระหว่างอยู่ในรถ และน้ำขึ้นสูงรอบๆรถ ให้รีบออกจากรถโดยเร็ว 


รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ควรจัดเตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน และจัดทำรายการสิ่งของจำเป็นที่ต้องเตรียม โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ 1.สิ่งของยามฉุกเฉินคือ น้ำดื่ม มีดอเนกประสงค์ กระดาษชำระ วิทยุใส่ถ่าน เชือก เทปกาวสะท้อนแสง ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว เสื้อผ้า ไฟฉาย นกหวีด เทียนไข ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ ถุงพลาสติก ปากกาเมจิค และชุดปฐมพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย หน้ากาก ยาฆ่าเชื้อ สำลี ผ้าก็อซ แหนบ ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ยา  2.สิ่งของมีค่าคือ เอกสารหลักฐาน และสิ่งสำคัญในชีวิต อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ ทะเบียนบ้าน สมุดธนาคาร หนังสือเดินทาง เงินสด กุญแจบ้าน กุญแจรถ โทรศัพท์มือถือ ที่ชาร์ตโทรศัพท์มือถือ แว่นสายตา สมุดบันทึก  3.สิ่งของจำเป็น และของใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการดำรงชีวิต อาทิ อาหารแห้งพร้อมรับประทาน ชุดชั้นใน หนังสือพิมพ์ (สามารถนำมาใช้เป็นผ้าห่มเพื่อกันหนาว นำมาพับเป็นจาน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือนำมาม้วนทำเป็นเฝือกฉุกเฉินได้)  สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน จาน ชาม ช้อน ส้อม ขันโลหะ เข็มกลัด กระจกพกพา ถ่านสำรอง อุปกรณ์กันฝน เข็มกลัด นอกจากนี้สำหรับผู้หญิงควรมีผ้าอนามัย และสตรีมีครรภ์ควรพกสมุดฝากครรภ์และผ้าขาวบางติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อใช้ในกรณีคลอดฉุกเฉิน อีกทั้งควรจัดเตรียมผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนผู้พิการควรเตรียมบัตรประจำตัวคนพิการและสมุดบันทึกการดูแลรักษาไว้ติดตัวตลอดเวลาด้วย และสำหรับเด็กทารกควรเตรียมนมผง ขวดนม อาหารเสริม ผ้าอ้อม สมุดบันทึกการฉีดวัคซีน และของเล่น 


“สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังและต้องรับประทานยาเป็นประจำ แต่ไม่สามารถเดินทางไปรับยาที่รพ.ได้ หรือ ยาถูกน้ำท่วมหมด นั้น ไม่ควรขาดยาเพราะจะเกิดถาวะแทรกซ้อนต่างๆ ให้ติดต่อประสานไปยังโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ หรือ ติดต่อที่สายด่วนเบอร์ 1669 ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือได้”  นพ. ไพโรจน์กล่าว 

 

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มดิจิทัล
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000039
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001