ข่าวเด่นการแพทย์ฉุกเฉิน
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จับมือสายการบินน้องใหม่ "วิสดอมแอร์เวย์" บินลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดระยะเวลา ลดอัตราการเสียชีวิต

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จับมือสายการบินน้องใหม่ “วิสดอมแอร์เวย์”

บินลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดระยะเวลา ลดอัตราการเสียชีวิต

 

                     

               วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และบริษัท วิสดอม แอร์เวย์ จำกัด ในการประสานการช่วยเหลือลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยาน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท วิสดอม แอร์เวย์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสายการบิน ได้เห็นพ้องร่วมกันในการทำข้อตกลงเพื่อการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศยาน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้รับการดูแลอย่างทันที อันเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งการตราพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

 

    

 

  

 

                    

                   

                     “ก่อนหน้านี้ ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ที่เรียกว่า Thai Sky Doctor มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอากาศยาน ในการใช้อากาศยานลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งการออกปฏิบัติการทั้งประเทศมีสถิติที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นภูเขาสูงการเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลานาน Sky doctor ช่วยให้ระยะเวลานั้นลดลงเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาก็ยังมีข้อจำกัด เช่น การลำเลียงผู้ป่วยจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมารักษายังจังหวัดเชียงใหม่ด้วยอากาศยานที่มีอยู่ในพื้นที่ ณ ปัจจุบัน คือเฮลิคอปเตอร์ สามารถดำเนินการได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น การที่สายการบินวิสดอม แอร์เวย์ ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการการบินในเชิงพาณิชย์ เชื่อมเส้นทางระหว่างเชียงใหม่กับสนามบินต่างๆในภาคเหนือ นำอากาศยานชนิดปีกตรึง และมีระบบเดินอากาศที่ทันสมัย มาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติ ทำให้การลำเลียงส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินจากจังหวัดในเขตภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน น่าน มายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงในการรักษาที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถทำได้รวดเร็วและครอบคลุมช่วงเวลาได้มากขึ้น โดยการปฏิบัติการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการร้องขอใช้อากาศยาน การประเมินสภาพผู้ป่วย การอนุมัติ จะดำเนินการผ่านระบบที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าว

                      ทั้งนี้จากข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในปี 2560 มีการใช้อากาศยานในการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวนทั้งสิ้น 30 ครั้ง โดยพื้นที่ภาคเหนือตอนบนถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการพัฒนาการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานมากที่สุด เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาที่ทำให้บางครั้งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลฉุกเฉินปกติต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ส่งผลต่อโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะวิกฤติ

 

 

 
แหล่งข่าว : กลุ่มสื่อสารองค์กร
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000134
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001