ศูนย์ข้อมูลการศึกษาและฝึกอบรม
เตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่ม

 

                      ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเกิดดินถล่มบ่อยครั้งมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานบนที่ลาดเชิงเขาประกอบกับไม่มีรากไม้ยึดเกาะหน้าดินทำให้ดินภูเขาที่ชุ่มน้ำอยู่แล้วไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้จนพังถล่มและเลื่อนไหลลงมาสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

                     ทั้งนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นส่วนหนึ่งที่หน้าที่ในการประสานหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนทั้งในประเทศและนอกประเทศในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินงานเพื่อเป็นตัวกลาง จัดกิจกรรมเพื่อผลักดันให้มีการจัดการที่ดี รวมถึงมีการประเมินผลเรียนรู้ การบริหารภัยพิบัติที่ผ่านมา และการพัฒนาระบบพื้นฐานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

                 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเกิดภัยพิบัติทุกครั้งที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน เครือข่าย ที่มี“จิตอาสา” เข้ามาช่วยเหลือเมื่อเกิด “ภัยพิบัติ”  อย่างมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ มูลนิธิ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่หน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการทั้งงานกู้ชีพ-กู้ภัย  ผนึกกำลังร่วมมือช่วยเหลือเพื่อมนุษย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเหตุการณ์น้ำท่วม-ดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้เห็นทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่เต็มกำลังเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยไม่เกี่ยงว่าจะเหนื่อยหรือทุกข์ยากลำบากเพียงใด รวมทั้งเห็นถึงความเสียสละของทีมแพทย์ พยาบาล และชาวกู้ชีพทุกคน

  


  การเตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่ม

  • สิ่งบอกเหตุก่อนเกิดดินถล่มมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร น้ำในแม่น้ำมีสีขุ่นข้นและระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีต้นไม้ขนาดเล็กไหลปนมากับน้ำ มีเสียงดังผิดปกติบริเวณภูเขา ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มขึ้นได้  ให้เตรียมอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที
  • การอพยพหนีภัยดินถล่มให้อพยพไปตามเส้นทางที่พ้นจากแนวการไหลของดินถล่ม ขึ้นที่สูงหรือสถานที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีแนวการไหลของดิน และเส้นทางที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก หากจำเป็นต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ให้ใช้เชือกผูกลำตัวแล้วยึดติดไว้กับต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากพัดจมน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด เพราะอาจกระแทกกับซากต้นไม้หรือหินที่ไหลมาตามน้ำจนจมน้ำเสียชีวิตได้
  • หลังเกิดดินถล่ม ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่เกิดดินโคลนถล่มหรือบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอาจเกิดการพังทลายซ้ำ กำหนดเขตปลอดภัย โดยติดตั้งป้ายเตือนว่าพื้นที่ใดปลอดภัยและพื้นที่ใดเสี่ยงต่อการเกิดดินโคลนถล่มซ้ำพร้อมเร่งระบายน้ำออกจากบริเวณที่ดินถล่มให้มากที่สุดโดยทำทางเบี่ยง เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงมาสมทบเข้าไปในมวลดินเดิมที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว

                         ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือการเกิดสาธารณภัย การเกิดภัยพิบัติขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างแรกที่ทุกคนต้องมี คือ “สติ” พร้อมรับในทุกสถานการณ์เพื่อวางแผนช่วยเหลือทั้งตัวเองและผู้คนรอบข้าง

                     ประชาชนทั่วไป สามารถใช้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน หรือเมื่อพบเห็นผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุ  สามารถโทรสายด่วน 1669 ขอความช่วยเหลือ บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง  

 
แหล่งข่าว : สำนักวิชาการ/สพฉ.
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000034996
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001