ศูนย์ข้อมูลการศึกษาและฝึกอบรม
เตรียมสุขภาพ รับมือหน้าร้อน กับ 6 โรคฮิต ติดชาร์ต

 เตรียมสุขภาพ รับมือหน้าร้อน กับ 6 โรคฮิต ติดชาร์ต

 

        ทุกปีเราจะพบว่ามีผู้ป่วยโรคระบาดในช่วงอากาศร้อนมากขึ้น กลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่หน่วยงานต่างๆ ตระหนักถึง

         ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเตือนประชาชนให้ระวังโรคติดต่อที่มาพร้อมกับภัยแล้งและหน้าร้อนที่พบบ่อย6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ โดยตัวเลขจากทางราชการระบุว่าตั้งแต่ 1มกราคมถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พบผู้ป่วยกว่า 170,000ราย

         สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศได้รับคำสั่งจากกระทรวงฯ ให้คุมเข้มมาตรฐานน้ำดื่ม น้ำประปา น้ำแข็ง ไอศกรีม ความสะอาดของตลาดสด ส้วมสาธารณะ ห้องครัว พร้อมแนะนำประชาชนว่าควรยึดหลัก "กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก" อย่างที่รณรงค์กันเป็นประจำ

         ร้อนนี้ เชื้อโรคเจริญเติบโตได้

         หน้าร้อน ทะเลไทยอาจจะดูสวยที่สุด แต่คุณรู้หรือไม่ว่า แดดจ้า อากาศอ้าว นี่ล่ะ เป็นสภาวะที่เพาะเชื้อโรคได้ดี

         ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยว่าในช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผลทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ในช่วงนี้ประชาชนจึงเจ็บป่วยง่ายขึ้น กระทรวงฯ มีนโยบายให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชน และให้กรมอนามัยรณรงค์เรื่องความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมตามสถานที่สาธารณะ ตลาดสด และร้านอาหารทุกประเภท

         ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยังเน้นควบคุมมาตรฐานการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแข็ง และไอศกรีม ซึ่งประชาชนนิยมบริโภคในหน้าร้อน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศผนึกกำลังรณรงค์ความสะอาดร้านอาหาร โรงงานผลิตน้ำดื่ม แหล่งผลิตน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำแข็ง ไอศกรีม ตลาดสด และส้วมสาธารณะในพื้นที่ โดยเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงไปควบคุมป้องกันโรคทันทีที่มีรายงานในแต่ละจุด เพื่อไม่ให้เกิดโรคแพร่ระบาด

         โรคฮิต ติดชาร์ต ช่วงหน้าร้อน

         เราทราบกันดีแล้วว่าโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูแล้ง และหน้าร้อน คือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ มี 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำสะอาดหรือขาดแคลนน้ำใช้

         รายงานล่าสุดระบุว่าภัยแล้งครอบคลุมพื้นที่ 18จังหวัด 4,300 กว่าหมู่บ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดโรคดังกล่าว อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าประชาชนในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งในเขตกรุงเทพฯ จะปลอดภัยจากเชื้อโรคที่เจริญเติบโตได้ดีในหน้าร้อน เพราะพื้นฐานการบริโภคยังไม่แตกต่างกัน ทั้งน้ำดื่ม อาหาร น้ำแข็ง หรือไอศกรีม เป็นต้น

         ข้อมูลในปี 2557ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 6โรคฮิต ระบุว่า มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,252,259ราย เสียชีวิต 9 ราย โรคที่พบผู้ป่วยมากอันดับ 1ได้แก่ อุจจาระร่วง จำนวน 1,107,169 ราย เสียชีวิต 9ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ134,549 ราย โรคบิด 8,120ราย โรคไทฟอยด์ 1,955 ราย โรคไวรัสตับอักเสบ เอ 454ราย และโรคอหิวาตกโรค 12 ราย ส่วนในปี2558นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พบผู้ป่วย 6โรครวม 176,804 ราย เสียชีวิต 1ราย โดยโรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่โรคอุจจาระร่วง 156,121ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 19,612 ราย โดยพบผู้ป่วยได้ทุกวัย ผู้ใหญ่พบได้เกือบร้อยละ 60 ส่วนในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5ขวบ พบได้ร้อยละ 29

         นอกจากโรคทั้ง 6ที่กระทรวงสาธารณสุขออกเตือนให้ประชาชนระวังเป็นพิเศษ ยังมีโรคในหน้าร้อนที่แม้จะไม่แพร่ระบาด แต่ต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นั่นคือ โรคพิษสุนัขบ้า

         โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ ไม่ได้เกิดแต่ในสุนัขและแมวอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่พบได้ในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น กระรอก หรือ ลิง เป็นต้น เราสามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้จากการสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่ป่วย เชื้อไวรัสก่อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายคน เมื่อถูกกัด หรือเมื่อสัตว์เลียบริเวณบาดแผล หรือผ่านเข้าทางตา ปาก จมูก

         ในกรณีถูกสัตว์กัด ให้รีบทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสบู่หลายๆ ครั้ง ทายาฆ่าเชื้อจำพวกทิงเจอร์ไอโอดีน และรีบพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และควรสังเกตอาการสุนัขไปอีกอย่างน้อย 10 วัน

          "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ"

          ยิ่งร้อน เรายิ่งต้องระวังเรื่องสุขภาพ ทุกปี เราจะได้เห็นโครงการรณรงค์ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" อยู่เสมอ นี่เป็นขั้นตอนเพื่อสุขลักษณะง่ายๆ ที่เราต้องปฏิบัติเป็นนิจ

         หลักปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีในหน้าร้อน

         กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ควรเก็บอาหารในตู้เย็นและอุ่นให้ร้อนก่อนกินเสมอ

         ใช้ช้อนกลางเสมอในการกินอาหารร่วมกันล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ ระหว่างวัน ควรล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ

         ดื่มน้ำสะอาด เลือกน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือดื่มน้ำต้มสุก

         อาหารควรระวังในหน้าร้อน

         มีคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้บริโภคอาหารบางจำพวกในช่วงหน้าร้อนอย่างระมัดระวัง เพราะทำให้ร่างกายทำงาน หนักจนขาดน้ำถึงกับช็อกได้

         แอลกอฮอล์ เพิ่มความร้อนให้ร่างกายได้โดยตรง และเพิ่มความร้อนให้ตับทำงานหนักและทำให้เส้นเลือดขยาย

         กาแฟและเครื่องดื่มกาเฟอีน มีฤทธิ์ในการขับน้ำ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายขาดน้ำ จึงเพลียแดดได้ง่าย ถ้าดื่มกาแฟก็ควรดื่มน้ำตาม

         ของทอด ของมัน ทำให้ร่างกายร้อนจากกรดไขมัน โอเมก้า 6และไขมันทรานส์แฟต มีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจ

         ทุเรียน ละมุด ขนุน ลำไย และผลไม้ฉ่ำน้ำตาล ไม่ควรกินมาก เพราะมีน้ำตาลฟรุกโทส ทำให้ร้อน ทุเรียนยังมีกำมะถันเป็นแร่ธาตุความร้อน จึงควรกินพอประมาณ

 

สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000054
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001