ศูนย์ข้อมูลการศึกษาและฝึกอบรม
สพฉ.จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดี

สพฉ.จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดี เพื่อรับมือผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเพิ่มมากขึ้นกว่าแสนคน พร้อมหวังให้ประชาชนเรียนรู้แนวทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยตามแผนผังการช่วยชีวิตฉุกเฉิน 10 ขั้นตอน

 
  

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า ปัจจุบันนี้จำนวนของผู้ป่วยโรคหัวใจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีพ.ศ. 2558ที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เก็บรวบรวมสถิติของผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ขอใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 ด้วยอาการทางโรคหัวใจ พบมีมากถึง  130,942 คน โดยแบ่งเป็น อาการหายใจลำบาก ติดขัด มากที่สุด 99,052 คน รองลงมาคือ เจ็บแน่นทรวกอก 31,035 คน  และ หัวใจหยุดเต้น 855 คนและผู้ป่วยเหล่านี้จะประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเหตุการณ์ล่าสุดก็มีผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันบนสายการบินแห่งหนึ่งแต่เจ้าหน้าที่บนสายการบินและแพทย์ซึ่งเป็นผู้โดยสายบนเครื่องบินก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ด้วยการใช้งานเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดี และการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้กระบวนการในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดีขึ้น   โดยในคู่มือจะระบุรายละเอียดการเรียนรู้ขั้นตอนในการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน1669 แนวทางในการให้การช่วยเหลือจากสายด่วน1669การเรียนรู้เรื่องระบบปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน การเรียนรู้เรื่องอาการฉุกเฉินกว่า16อาการอาทิการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันทางเดินหายใจ การหายใจเร็วและเหนื่อยหอบอย่างรุนแรง และหายใจมีเสียงดัง การชักต่อเนื่องไม่หยุด อาการชักในหญิงตั้งครรภ์ งูพิษกัด และมีอาการหนังตาตกหรือหายใจลำบาก การเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง แขนขาอ่อนแรงซีกเดียวอย่างฉับพลัน   การเรียนรู้เรื่องการช่วยชีวิตฉุกเฉิน การเรียนรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และเรียนรู้แผนผังการช่วยชีวิตฉุกเฉิน 10 ขั้นตอน พร้อมทั้งเรียนรู้การใช้งานเครื่องเออีดีด้วย

 เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า สำหรับแผนผังการช่วยชีวิตฉุกเฉิน 10 ขั้นตอน ในหนังสือคู่มือเล่มนี้นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนควรเรียนรู้ไว้ โดยรายละเอียดในแผนผังการช่วยชีวิตฉุกเฉิน 10 ขั้นตอนมีดังนี้  1ปลอดภัยไว้ก่อน โดยเมื่อเราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องตรวจสอบความปลอดภัยของผู้เข้าให้ความช่วยเหลือก่อนซึ่งถ้าหากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยเช่นไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ ตึกถล่ม ห้ามเข้าไปให้การช่วยเหลือโดยเด็ดขาด และหากประเมินแล้วว่าสถานการณ์ในการเข้าให้ความช่วยเหลือปลอดภัยต่อผู้เข้าให้การช่วยเหลือก็สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้  2.ปลุกเรียกตบไหล่ตรวจสอบดูว่าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่3. โทร1669เพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่พร้อมกับนำเครื่องเอดีดีมา 4. ประเมินผู้หมดสติ โดยตรวจดูว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่ หากไม่รู้สึกตัวไม่หายใจหรือหายใจเฮือกต้องรีบกดหน้าอก 5.กดหน้าอกโดยจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายโดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางอีกข้างทับประสานกันไว้ แขนสองข้างเหยียดตรง โดยให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกผู้ป่วยและเริ่มกดหน้าอกผู้ป่วย 6. เมื่อเครื่องเออีดีมาถึงให้เปิดเครื่องถอดเสื้อผู้ป่วย ถ้าตัวเปียกน้ำให้เช็ดน้ำออกก่อนแล้วติดแผ่นนำไฟฟ้า 7. ติดแผ่นนำไฟฟ้า8.ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี9.กดหน้าอกต่อหลังการช็อกไฟฟ้าด้วยเครื่องเออีดีแล้วทันที10.ส่งต่อผู้ป่วยเมื่อทีมกู้ชีพมาถึง

“การเรียนรู้ตาม 10ขั้นตอนในคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นด้วยการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดี จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาลที่วันหนึ่งอาจเป็นคนที่เรารักเองก็ได้โดยประชาชนท่านสามารถดาวน์โหลดคู่มือไปศึกษาด้วยตนเองได้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้

http://www.niems.go.th/th/Upload/File/255912201429421769_DnRyGchSR1ODAHUz.pdf “นพ.อนุชากล่าว

 

 
แหล่งข่าว : กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000000205
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001