สื่อประชาสัมพันธ์การแพทย์ฉุกเฉิน
สพฉ. แนะวิธีรับมือภัยเสี่ยงเทศกาลลอยกระทง “ประทัด-จมน้ำ-อุบัติเหตุจราจร” ชี้มีสถิติเป็นรองแค่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ ด้าน “นพ.ชาตรี” ย้ำหากพบผู้บาดเจ็บจากประทัด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำประคบ เปิดน้ำไหลผ่าน บรรเทาอาการก่อนถึงมือแพทย์ ขณะที่หากพบคนตกน้ำต้องช่วยอย่างถูกวิธี รีบแจ้งสายด่วน 1669

          นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เมื่อย้อนดูสถิติอุบัติเหตุหรืออัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ย้อนหลังในหลายๆ ปี จะพบว่าเดือนพฤศจิกายนที่มีเทศกาลลอยกระทง เป็นอีกเดือนที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินมากเป็นอันดับต้นๆของปี รองเพียงสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์เท่านั้น โดยสถิติที่มักเกิดมากที่สุด คืออุบัติเหตุจากประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ซึ่งมักเกิดในเด็กอายุ 10-14 ปี ดังนั้นการเตรียมพร้อมคือผู้ปกครองควรอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงอันตราย ที่สำคัญไม่ควรให้เด็กจุดเล่นเองโดยเด็ดขาด และต้องจำไว้เสมอว่าระยะปลอดภัยในการยืนดูพลุ คือระยะ 10 เมตรขึ้นไป

          อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับอันตราย ให้รีบแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินที่สายด่วน 1669 เพื่อให้นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด จากนั้นระหว่างรอการช่วยเหลือควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผล หรือให้น้ำไหลผ่าน ประมาณ 10 นาที เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด จากนั้นปิดด้วยผ้าสะอาด ป้องกันการติดเชื้อ แต่หากแผลไหม้เป็นบริเวณกว้าง หรือถูกอวัยวะสำคัญต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลและในกรณีบาดแผลไฟไหม้ถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ให้ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวผู้บาดเจ็บ และระหว่างรอรถพยาบาลหากบาดแผลอยู่ในบริเวณที่มีเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออก หรือหากถอดลำบากควรตัดออกเป็นชิ้น แต่หากเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่น อย่าพยายามฝืนดึงเพราะอาจจะทำให้บาดเจ็บมากขึ้น แต่ควรใช้ผ้าสะอาดคลุม นอกจากนี้หากผู้บาดเจ็บมีกำไล แหวน หรือเครื่องประดับ ควรถอดออกด้วย เพราะหากปล่อยไว้นิ้วหรือข้อมืออาจบวมจนทำให้ถอดยาก ที่สำคัญห้ามใส่ยาหรือสารใดๆ บนบาดแผลเด็ดขาดหากไม่แน่ใจ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองต่อบาดแผลเพิ่มได้

          เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า รองลงมาคืออันตรายจากการจมน้ำและตกน้ำ โดยมี 2 สาเหตุหลัก คือพลัดตกน้ำเพราะผู้คนเบียดเสียด และการลงน้ำไปเก็บเศษเงินในกระทง ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และหากพบคนตกน้ำ จมน้ำควรช่วยเหลือโดยคิดถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน และรีบโทรแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ควรสังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้กดนวดหัวใจตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก นอกจากนี้ภัยที่น่าเป็นห่วงในทุกเทศกาลคงหนีไม่พ้นอุบัติเหตุจากการจราจร ยิ่งมีการสังสรรค์ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงมากขึ้นด้วย ดังนั้นควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ไม่ควรขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กำหนด ที่สำคัญคือต้องไม่ดื่มสุราหากต้องขับรถ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้หากขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย ทั้งนี้หากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุสามารถโทรแจ้งที่สายด่วน 1669 ได้ บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

 

/////////////////////////////

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณสุดารัตน์ นิราพาธ 089-019-1669

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

 

ผู้จัดทำ : กลุ่มสื่อสารองค์การ
สัญลักษณ์นี้จดลิขสิทธิ์ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553

[Login]

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
เนื้อหาและรูปที่ปรากฎในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เพื่อสื่อสาร ส่งเสริมและสนับสุนนการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน
สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ pr@niems.go.th โทรศัพท์ : 0-2872-1600

จำนวนผู้เข้าชมสะสม
000000039868
จำนวนผู้เข้าชมวันนี้
000000000001